เจ้าของร้าน Carnival เตือนขายของออนไลน์ ต้องจดทะเบียน หลังโดนปรับเป็นแสน

          เจ้าของร้าน Carnival เตือนคนขายของผ่านออนไลน์ ให้ไปจดทะเบียน สคบ. หลังโดนปรับเป็นแสนมาแล้ว อึ้งกว่าหลังรู้สุ่มเช็กยังไง คนชี้เป้าได้ส่วนแบ่ง
ขายของออนไลน์ ไม่ได้จดทะเบียน โดนปรับเป็นแสน

          ในช่วงเวลาที่คนนิยมช้อปปิ้งออนไลน์ กันมากขึ้น มีคนมากมายหันมาสร้างรายได้กันผ่านช่องทางนี้ แต่สิ่งที่ผู้ประกอบการหลาย ๆ คนอาจจะยังไม่รู้ก็คือเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องข้อบังคับการจดทะเบียน จนว่าจะรู้ตัวอีกทีก็ถูกปรับเป็นเงินจำนวนมาก

          ดังเช่นกรณีล่าสุดที่ คุณอนุพงศ์ คุตติกุล CEO บริษัท คาร์นิวาล ซัพพลาย จำกัด เจ้าของธุรกิจแฟชั่นภายใต้แบรนด์ Carnival ได้ออกมาแชร์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2567 หลังจากที่เขาถูก สคบ. ปรับเงินรวม 132,000 บาท เนื่องจากการขายสินค้าออนไลน์ โดยระบุว่า...

          "ผมโดน สคบ. ปรับเงินรวม 132,000 บาท เนื่องจากการขายสินค้าออนไลน์ ใครมีเว็บไซต์ หรือ ขายของออนไลน์ ในทุกรูปแบบ ต้องอ่านครับ

ขายของออนไลน์ ไม่ได้จดทะเบียน โดนปรับเป็นแสน

          คิดอยู่นานว่าจะเขียนมาบอกคนอื่นดีไหม หรือผมจะโดนเพ่งเล็งอะไรจากหน่วยงานอีกรึป่าว แต่คิดแล้วถ้าไม่บอกน่าจะมีคนโดนอีกเยอะมาก และผมคิดว่ามันไม่ค่อยโอเคเท่าไหร่ กับการโดนปรับในครั้งนี้

          เริ่มจากช่วงเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา ทางบริษัทของผมได้รับจดหมายแจ้งจาก สคบ. ว่าเราได้ประกอบการขายสินค้าทางเว็บไซต์ โดยไม่ได้มีการจดทะเบียน "การประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง" หลังจากที่ได้รับจดหมายมา คืองงมาก เข้าใจมาตลอดว่า เราแค่จดทะเบียนพานิชย์ DBD เราก็ขายของ Online บนเว็บไซต์ได้แล้ว ซึ่งผมเปิดเว็บไซต์มา 10 กว่าปีแล้ว ไม่เคยรู้มาก่อนว่ามีกฎหมายข้อนี้ด้วย

ขายของออนไลน์ ไม่ได้จดทะเบียน โดนปรับเป็นแสน
 ภาพจาก เฟซบุ๊ก Anupong Kuttikul

ขายของออนไลน์ ต้องจดทะเบียนการประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง


          ทาง สคบ. ระบุว่า การจดทะเบียน "การประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง" หมายความว่า ถ้าบริษัทของคุณมีการการขายสินค้าและบริการโดยการใช้สื่อที่ส่งข้อมูลตรงถึงลูกค้า เช่น ทางอินเทอร์เน็ต โทรศัพท์ อีเมล โบรชัวร์ สื่อสิ่งพิมพ์ หรือสื่อออนไลน์อื่น ๆ โดยไม่ต้องใช้ตัวแทนขายในการติดต่อกับผู้บริโภค คุณจะต้องจะทะเบียนกับทาง สคบ. (ซึ่งในยุคนี้ มันก็เกือบทุกบริษัทนั่นแหละ ที่มีการสื่อสารส่งข้อมูลให้ลูกค้าทาง Internet และขายของ Online)

          ซึ่งจากการสอบถามเจ้าหน้าที่ สคบ. ได้ความว่า ไม่ใช่แค่เว็บไซต์อย่างเดียว การขายของ Online ผ่านทาง Facebook, Line หรือ ช่องทางอื่น ๆ ก็เข้าข่ายต้องจดทะเบียนด้วยเช่นเดียวกัน

คนรู้กฎหมายไม่มาก ประชาสัมพันธ์ไม่ทั่วถึง


          ผมสงสัยมากว่า นี่ผมโง่เองคนเดียวที่ไม่รู้กฎหมายข้อนี้ ทั้ง ๆ ที่มีเว็บไซต์ขายของ Online มาเป็น 10 ปีแล้ว หรือคนอื่นก็ไม่มีใครรู้ด้วย ผมก็เลยโทร. ไปถามผู้ประกอบการธุรกิจแบบเดียวกัน ที่มีขายของ Online เหมือนกัน โทรไป 20-30 บริษัท ปรากฏว่าก็ไม่มีใครรู้กฎหมายข้อนี้เลยสักรายเดียว และไม่มีคนรอบตัวผมจดทะเบียนธุรกิจแบบตลาดตรงเลยสักคนเดียวเลยครับ แม้กระทั้งบริษัทที่สร้างเว็บไซต์ให้กับผม ที่ทำเว็บให้กับบริษัท E-Commerce ใหญ่ ๆ หลาย ๆ ราย ก็ไม่รู้ข้อกฎหมายนี้เช่นเดียวกัน

          ผมจ่ายค่าปรับ 132,000 บาท โดยไม่ได้โต้แย้งอะไร เพราะปรึกษาหลาย ๆ คนแล้ว ให้ความเห็นตรงกันว่าแย้งไปก็สู้เค้าไม่ได้ ไม่มีประโยชน์ แต่ไหน ๆ จะจ่ายทั้งทีแล้ว ขอรู้ข้อมูลหน่อยว่ามันเกิดอะไรขึ้น ก็เลยเข้าไปที่ สำนักงานของ สคบ. เพื่อจะสอบถามเจ้าหน้าที่ว่า มีคนโดนปรับแบบผมเยอะไหม แล้วทำไมพวกเราในฐานะผู้ประกอบการณ์ ถึงไม่รู้เลย

          และก็ได้คำตอบจากเจ้าหน้าที่ว่า คนไม่รู้ตรงนี้เยอะมาก และ ปัจจุบันมีบริษัทที่จดทะเบียนธุรกิจตลาดแบบตรงทั้งประเทศไทยมีแค่ 800 กว่าบริษัทเท่านั้น ผมก็ยิ่ง งง เข้าไปใหญ่ นี่มันอะไรกัน ประเทศไทยน่าจะมีเว็บไซต์ขายของออนไลน์ เป็นแสน เป็นล้านเว็บนะ และถ้านับคนที่ไม่มีเว็บ แต่ขายของออนไลน์ด้วย น่าจะหลายล้านรายเลยด้วยซ้ำ ทำไมถึงมีคนจะทะเบียนแค่ 800 กว่าราย แล้วแบบนี้คนที่เหลือจะต้องโดน สคบ. เรียกปรับเป็นแสน ๆ แบบนี้ทุกคนหรอ

          ผมรู้ดีว่า เราทำผิดแล้วจะมาอ้างว่าไม่รู้กฎหมายไม่ได้ แต่คำถามที่ผมถามเจ้าหน้าที่คือ ทาง สคบ. ได้มีการประชาสัมพันธ์ หรือ มีความพยายาม จะทำให้ผู้ประกอบการรู้ไหมว่า ต้องมาจดทะเบียนตรงนี้ หรือ ตั้งหน้าตั้งตา จะปรับเงิน เพื่อเอาเงินอย่างเดียว ทั้ง ๆ ที่ปัจจุบันแทบจะทุกบริษัท ทุกร้านค้าก็ ใช้ Online เป็นช่องทางกันหมดแล้ว เจ้าหน้าที่ก็เหมือนจะยอมรับว่า "การะประชาสัมพันธ์มันยังไม่ทั่วถึงพอ"

เช็กเรื่องจากชี้เป้า นักร้องได้ส่วนแบ่ง 25%


          จุดพีคมันอยู่ตรงที่ ผมถามต่อถึงเรื่องการตรวจสอบว่า ทาง สคบ. เป็นคนสุ่มเช็กเว็บต่าง ๆ เองหรือให้หลักเกณท์ยังไง เจ้าหน้าที่ได้ตอบว่า จะมีคนเขียนคำร้องแจ้งเข้ามา และผู้แจ้งจะได้ส่วนแบ่งจากค่าปรับ "25%" ถึงตรงนี้ผมก็เลยเก็ตทันทีครับ ผมถามต่อว่าผมสามารถรู้ชื่อของคนที่แจ้งเค้ามาได้ไหมว่าเค้าคือใคร ทางเจ้าหน้าที่ตอบว่า แน่นอนว่าไม่สามารถแจ้งได้

          ลองคิดเล่น ๆ ว่า ถ้าปรับสัก 300 บริษัท จะเป็นเงินประมาณ  39 ล้านบาท ส่วนแบ่งค่าปรับ 25% สำหรับคนที่แจ้งคือ 9.7 ล้านบาท ลองคิดดูว่าจำนวนเงินขนาดนี้ ลองไปวิเคราะห์กันเอาเองว่า ส่วนแบ่งตรงนี้น่าจะเป็นกลุ่มคนไหนที่ได้ไปครับ

          ซึ่งหลังจากที่บริษัทผมโดนปรับไปได้ไม่ถึงเดือน ก็มีร้าน Multi Brand และ Sports ในกลุ่มธุรกิจเดียวกัน ก็ค่อย ๆ โดนตามทีละรายสองราย ผมเลยเข้าใจได้ว่า "ผู้ร้องเรียน" พยายามไล่ "ตามหมวด" ประเภทธุรกิจ ตอนนี้อาจจะไล่หมวด Sports และ รองเท้าอยู่ แล้วก็จะตามไปในหมวดอื่น ๆ ต่อไป

          ถึงตรงนี้ผมคิดว่าข้อกฎหมายนี้เป็นจุดที่อาจจะมีกลุ่มคนจ้องจะหาผลประโยชน์ได้ เพราะวันนี้ถ้าคุณสุ่มเว็บทั่วไปในอินเทอร์เน็ต เชื่อว่า 95% ยังไม่ได้จดทะเบียนแน่นอนครับ ยังไม่รวมถึงเพจ Facebook TikTok หรือร้านค้าต่าง ๆ ที่ใช้สื่อออนไลน์ขายของ ซึ่งมีอีกเป็นล้าน ๆ รายแน่นอน และถ้ามีคนรู้ตรงจุดนี้ แล้วไปร้องเรียนสัก 500-1,000 เว็บ ลองคิดดูว่าจะได้ส่วนแบ่งเท่าไหร่

          มีคนจะต้องเดือดร้อนและเสียค่าปรับตรงนี้อีกเพียบแน่นอน แสนกว่าบาทไม่ใช่เงินน้อย ๆ และน่าจะทำให้หลายบริษัทเดือดร้อนได้เลยกับตรงนี้ กับสภาพเศรษฐกิจแบบนี้

          ข้อสำคัญต่อมาที่ผมต้องเจออีก คือ ผมเป็นเจ้าของหลายบริษัท และ มีเว็บไซต์ที่ทำธุรกิจคนละเว็บ คนละบริษัท แยกกันชัดเจน หลังจากที่โดนปรับไปแล้ว 1 เว็บ และจดทะเบียนการตลาดแบบตรงเรียบร้อย ผมก็เลยรีบจะทำการจดทะเบียนอีก 1 เว็บทันที เพื่อจะได้ไม่ต้องโดนปรับอีก

1 คน จดทะเบียนได้ 1 เว็บ


          ผลปรากฏว่า เจ้าหน้าที่แจ้งว่า จดไม่ได้แล้ว 1 คน 1 กรรมการบริษัท สามารถจดทะเบียนได้แค่ 1 เว็บเท่านั้น ถึงตรงนี้คือ งง มาก ๆ ทุกวันนี้คนเราขายของหลายอย่าง หลายบริษัทได้หนิ แทบทุกบริษัทก็มีเว็บขายของกันหมด ทำไมถึงมาจำกัดว่าได้คนละ 1 เว็บเท่านั้น เหมือนมาบังคับว่า เราขายของได้แค่อย่างเดียวเท่านั้น เจ้าหน้าที่ก็เลยตอบมาว่า เนื่องจากกฏหมายพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 มีระบุไว้เพื่อป้องการธุรกิจขายตรงจดทะเบียนหลายบริษัทและอาจจะทำการคล้าย ๆ แชร์ลูกโซ่ได้

          ตรงนี้ยิ่งทำให้คิดว่ากฎหมายไทยมันล้าหลังมาก ๆ ครับ คือคุณเอาบริษัทขายตรงมารวมกับบริษัทที่ขายของออนไลน์ มารวมในกฎข้อบังคับเดียวกันได้ยังไง มันแทบจะคนละแบบกันเลย ซึ่งเจ้าหน้าก็มีการแจ้งผมว่า มีการนำเสนอให้แก้กฏหมายข้อนี้มาหลายปีแล้ว แต่ก็ยังไม่ผ่านสักที

          ปัจจุบันผมต้องปิดช่องทางการขายทางเว็บไซต์ไป 1 บริษัท และยังหาทางออกไม่ได้ว่าจะเอายังไงต่อดี หรือต้องรออีกกี่ปี กว่าจะแก้กฎหมายได้

          กฎหมายนี้ควรได้รับการประชาสัมพันธ์ให้ครอบคลุมมากขึ้น เพราะธุรกิจออนไลน์ในปัจจุบันมีมากมาย และหลายรายอาจไม่ทราบถึงข้อบังคับนี้ ควรมีการเรียกเตือนก่อน เน้นการสร้างการรับรู้เพื่อให้คนมาจดทะเบียน ไม่ใช่เน้นตามจับปรับอย่างเดียว จุดประสงค์เดียวของโพสต์นี้คือ ไม่อยากให้ใครโดนเหมือนผม ถ้าคุณขายของออนไลน์ จะมีเว็บ หรือ ไม่มีเว็บ ลองไปตรวจสอบดูและเช็กข้อมูลกับ สคบ. ครับ อย่าคิดว่าจะไม่โดน เพราะผมเห็นโดนมาหลายรายแล้ว จดทะเบียนได้รีบจดด่วนที่สุด ก่อนที่จะโดนปรับเป็นแสนครับ"

          ทั้งนี้ มีชาวเน็ตจำนวนมากเข้ามาแสดงความคิดเห็น ส่วนมากยอมรับว่าไม่เคยรู้เรื่องกฎหมายจุดนี้มาก่อน และพากันสงสัยว่าเรตในการปรับนั้นคำนวณจากอะไร และการขายของแบบใดบ้างที่เข้าเกณฑ์ที่ต้องจดทะเบียน รวมถึงมองว่าเรื่องนี้อาจมีบรรดานักร้องเรียนมากมายที่ใช้เป็นช่องทางทำเงิน

          ซึ่งคุณอนุพงศ์ ได้ตอบในส่วนของค่าปรับที่โดน ว่า ปรับไม่เกิน 100,000 บาท แต่จะปรับทั้งบริษัทและเจ้าของด้วยพร้อมกัน ซึ่งถ้าโดนเต็มแม็กซ์ก็คือ 200,000 บาท แต่ของตนโดน 60,000 กว่าบาททั้งคนและบริษัท แต่ไม่แน่ใจเช่นกันว่าพิจารณาจากอะไร

ขายของออนไลน์ ไม่ได้จดทะเบียน โดนปรับเป็นแสน

ขายของออนไลน์ ไม่ได้จดทะเบียน โดนปรับเป็นแสน

ขายของออนไลน์ ไม่ได้จดทะเบียน โดนปรับเป็นแสน


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เจ้าของร้าน Carnival เตือนขายของออนไลน์ ต้องจดทะเบียน หลังโดนปรับเป็นแสน โพสต์เมื่อ 26 ตุลาคม 2567 เวลา 10:20:24 6,265 อ่าน
TOP
x close
  翻译: