ข้ามไปเนื้อหา

พระเจ้าหลุยส์ที่ 9 แห่งฝรั่งเศส

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
หลุยส์ที่ 9
พระบรมสาทิสลักษณ์ วาดโดยเอลเกรโก
พระมหากษัตริย์แห่งฝรั่งเศส
ครองราชย์8 พฤศจิกายน 1226 – 25 สิงหาคม 1270
ราชาภิเษก29 พฤศจิกายน 1226 ณ อาสนวิหารแร็งส์
ก่อนหน้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 8
ถัดไปพระเจ้าฟีลิปที่ 3
พระราชสมภพ25 เมษายน ค.ศ. 1214
ปัวซี ราชอาณาจักรฝรั่งเศส
สวรรคต25 สิงหาคม ค.ศ. 1270 (พระชนมายุ 56 พรรษา)
ตูนิส แอฟริกาเหนือ
ฝังพระศพมหาวิหารแซ็ง-เดอนี
คู่อภิเษกมาร์การิดาแห่งพรอว็องส์ (สมรส 1234)
พระราชบุตร
รายละเอียด
ราชวงศ์กาแป
พระราชบิดาพระเจ้าหลุยส์ที่ 8 แห่งฝรั่งเศส
พระราชมารดาบลังกาแห่งกัสติยา
ศาสนาโรมันคาทอลิก

พระเจ้าหลุยส์ที่ 9 (ฝรั่งเศส: Louis IX, อังกฤษ: Louis IX) (25 เมษายน ค.ศ. 1214 - 25 สิงหาคม ค.ศ. 1270) หรือ นักบุญหลุยส์ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ฝรั่งเศสแห่งราชวงศ์กาแประหว่างวันที่ 8 พฤศจิกายน ค.ศ. 1226 จนเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม ค.ศ. 1270 นอกจากเป็นพระมหากษัตริย์แห่งฝรั่งเศสพระองค์ก็ยังทรงใช้พระนามว่า “หลุยส์ที่ 2 เคานต์แห่งอาร์ตัว” ระหว่างปี 1226 จนถึงปี 1237 ในรัชสมัยของพระองค์ ได้ทรงทำงานร่วมกับรัฐสภาแห่งปารีสในการพยายามปรับปรุงเพื่อเพิ่มความมีประสิทธิภาพทางด้านกฎหมาย

หลุยส์ที่ 9 เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 25 เมษายน ค.ศ. 1214 เป็นพระราชโอรสในพระเจ้าหลุยส์ที่ 8 แห่งฝรั่งเศส และพระนางบลังกาแห่งกัสติยา พระองค์เป็นพระเจ้าแผ่นดินฝรั่งเศสพระองค์เดียวที่ทรงได้รับการประกาศเป็นนักบุญ ซึ่งทำให้มีสถานที่ต่างๆ มากมายที่ตั้งชื่อตามพระองค์

แหล่งข้อมูล

[แก้]
เหรียญเซนต์หลุยส์ จารึกเป็นภาษาละตินรอบเหรียญว่า LVDOVICVS DEI GRACIA FRANCOR REX("หลุยส์ โดยพระคุณของพระเป็นเจ้า พระมหากษัตริย์แห่งชาวแฟรงก์)

ที่มาของข้อมูลเกี่ยวกับพระราชประวัติของหลุยส์ที่ 9 มาจากหนังสืออันมีชื่อเสียงชื่อ “พระราชประวัติของนักบุญหลุยส์” ที่เขียนโดยฌ็อง เดอ ฌวงวีย์ ฌวนวิลล์เป็นทั้งพระสหาย, ที่ปรึกษาส่วนพระองค์ และที่ปรึกษาราชการในพระเจ้าหลุยส์ และเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการสืบสวนของพระสันตะปาปาที่เกี่ยวกับพระราชประวัติของพระองค์ที่เป็นผลให้ทรงได้รับการประกาศเป็นนักบุญใน ค.ศ. 1297 โดยสมเด็จพระสันตะปาปาบอนิเฟซที่ 8

แหล่งข้อมูลอีกสองแหล่งที่มีความสำคัญเขียนโดยฌอฟรัวแห่งโบลีเยอ บาทหลวงผู้อภัยบาป และกีโยม เดอ ชาทร์ อนุศาสนาจารย์ประจำพระองค์ แหล่งข้อมูลที่สำคัญแหล่งที่สี่เป็นประวัติของวิลเลียมแห่งเซนต์พาธัสที่เขียนจากเอกสารเกี่ยวกับการสืบสวนพระราชประวัติของสถาบันพระสันตะปาปา แม้ว่าจะมีแหล่งข้อมูลต่าง ๆ หลายแหล่งที่เขียนขึ้นภายในช่วงไม่กี่สิบปีหลังจากที่เสด็จสวรรคต แต่ก็มีเพียงพระราชประวัติที่เขียนโดยฌวนวีย์ ฌอฟรัวแห่งโบลีเยอ และกีโยม เดอ ชาทร์ เท่านั้นที่เขียนจากความรู้ส่วนตัวเกี่ยวกับพระองค์

พระราชประวัติ

[แก้]
ภาพการเสด็จพระราชสมภพของพระเจ้าหลุยส์ที่ 9 ในมหาพงศาวดารฝรั่งเศสโดยพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 5 คริสต์ศตวรรษที่ 14

หลุยส์ที่ 9 เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 25 เมษายน ค.ศ. 1214 ที่ปัวซีไม่ไกลจากปารีส หลุยส์ที่ 9 เป็นพระราชโอรสในพระเจ้าหลุยส์ที่ 8 และ บลังกาแห่งกัสติยาแห่งราชวงศ์กาแป หลุยส์ที่ 9 มีพระชนมายุเพียง 12 พรรษาเมื่อพระราชบิดาเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ค.ศ. 1226 และทรงได้รับราชาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ภายในเดือนเดียวกันที่มหาวิหารแร็งส์ แต่ก่อนที่จะทรงบรรลุนิติภาวะพระราชมารดาทรงทำหน้าที่เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

การ์โลที่ 1 แห่งซิซิลี (ค.ศ. 1227–ค.ศ. 1285) พระราชอนุชาของพระองค์ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นเคานต์แห่งอ็องฌู ผู้ก่อตั้งราชวงศ์อ็องฌูสายที่สอง

จุลจิตรกรรมภาพพิธีราชาภิเษกของพระเจ้าหลุยส์ที่ 9

หลักฐานเกี่ยวกับวันที่ทรงขึ้นครองราชย์อย่างเป็นทางการด้วยพระองค์เองไม่เป็นที่ทราบ ผู้ร่วมสมัยมีความเห็นว่ารัชสมัยของพระองค์เป็นรัชสมัยของการปกครองร่วมกันระหว่างพระองค์เองและพระราชมารดา แต่นักประวัติศาสตร์มีความเห็นกันโดยทั่วไปว่าหลุยส์ที่ 9 ทรงเริ่มการปกครองด้วยพระองค์เองในปี 1234 โดยมีพระราชมารดาทรงเป็นที่ปรึกษา และทรงดำเนินการเป็นที่ปรึกษาคนสำคัญต่อมาจนกระทั่งเมื่อเสด็จสวรรคตในปี 1252

ในวันที่ 27 พฤษภาคม ค.ศ. 1234 หลุยส์ที่ 9 อภิเษกสมรสกับมาร์เกอริตแห่งพรอว็องส์ พระเชษฐภคินีในพระนางเอลินอร์ พระมเหสีในพระเจ้าเฮนรีที่ 3 แห่งอังกฤษ


ยุคภายใต้การสำเร็จราชการแผ่นดิน

[แก้]
ภาพบลังกาแห่งกัสติยากับพระเจ้าหลุยส์ที่ 9 ในจุลจิตรกรรมจากคัมภีร์ไบเบิ้ลโตเลโด ค.ศ. 1240

บลังกาแห่งกัสติยา พระราชมารดาของหลุยส์ที่ 9 เป็นสตรีที่ชาญฉลาด หนักแน่น และเลื่อมใสในศาสนา ทรงมีอิทธิพลอย่างมากต่อพระโอรส หลังพระสวามีของบลังกาสิ้นพระชนม์ พระนางได้ขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินและได้สร้างความแข็งแกร่งให้แก่อำนาจของกษัตริย์ ในวัยหนุ่มพระเจ้าหลุยส์ผู้รูปงามโปรดปรานการใช้เวลาว่างตามวิถีแห่งอัศวิน ในปี 1234 ทรงอภิเษกสมรสกับมาร์เกอรีต ธิดาของราโมน บารังเกที่ 4 เคานต์แห่งพรอว็องส์

ภาพการต่อสู้ระหว่างกองทัพของพระเจ้าหลุยส์ที่ 9 กับกองทัพของพระเจ้าเฮนรีที่ 3 จากพงศาวดารแซ็งต์เดอนี ราวปี 1332 ถึง 1350

การเข้ามามีบทบาทในการบริหารราชการของหลุยที่ 9 ไม่ค่อยสร้างความเปลี่ยนแปลงในการบริหารบ้านเมือง อำนาจของกษัตริย์ที่แข็งแกร่งอยู่แล้วทำให้พระเจ้าหลุยส์รักษาอำนาจที่ทรงมีต่อข้าราชบริพารของพระองค์ไว้ได้ไม่ยาก พระเจ้าเฮนรีที่ 3 กษัตริย์ราชวงศ์แพลนแทเจเนตอังกฤษแห่งพยายามกอบกู้การครอบครองของบรรพบุรุษของพระองค์กลับคืนมา แต่พระเจ้าหลุยส์คว้าชัยชนะในการทำสมรภูมิที่แตลเลอบูร์ ด้วยหลักแห่งความยุติธรรมทำให้พระองค์ไม่ได้เอารัดเอาเปรียบจากชัยชนะครั้งนี้ ทรงเห็นค้านกับคณะที่ปรึกษาและพระราชทานดินแดนบางส่วนที่ยึดมาจากอังกฤษในรัชสมัยของพระเจ้าฟีลิปที่ 2 ออกุสตุส คืนให้แก่พระเจ้าเฮนรี

สงครามครูเสดครั้งที่ 7

[แก้]
ภาพพระเจ้าหลุยส์กับสมเด็จพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ 4 จากมหาพงศาวดารฝรั่งเศสโดยพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 5

ในปี 1244 หลุยส์ที่ 9 ป่วยหนักและได้ปฏิญาณตนเข้ารับการปฏิบัติหน้าที่ต่อกางเขนศักดิ์สิทธิ์ด้วยพระองค์เอง พระองค์เข้ารับธง สายสะพาย และคณะผู้แสวงบุญที่แซ็งต์เดอนี และได้ขอให้สมเด็จพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ 4 พระราชทารพรให้แก่พระองค์ พระเจ้าหลุยส์และคณะอัศวินครูเสดเดินทางถึงไซปรัสในเดือนกันยายน ค.ศ. 1248 และถึงอียิปต์ในฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 1249 ดาเมียตตาถูกยึดในวันที่ 6 มิถุนายน พระเจ้าหลุยส์เคลื่อนพลไปถึงมันซูรา แต่กองทัพของอัศวินครูเสดอ่อนแอลงเนื่องจากความขัดแย้งและความไม่สงบภายใน

ภาพพระเจ้าหลุยส์ตกเป็นนักโทษ โดยวิลเลียมแห่งไทร์ ค.ศ. 1337

ขณะกำลังถอยทัพกลับดาเมียตตา กลุ่มแซ-ระเซ็นจับตัวหลุยส์ที่ 9 ได้ทำให้พระองค์ตกเป็นนักโทษ กษัตริย์จ่ายเงินก้อนโตจึงได้รับการปล่อยตัวกลับดาเมียตตา ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1250 พระเจ้าหลุยส์ล่องเรือออกจากอียิปต์ แต่ยังคงอยู่ในซีเรียเป็นเวลา 4 ปี ตั้งแต่ ค.ศ. 1250 ถึง ค.ศ. 1254 เพื่อรออัศวินครูเสดกลุ่มใหม่ พระเจ้าหลุยส์ให้การสนับสนุนชาวคริสต์ในปาเลสไตน์ ทรงสร้างความสัมพันธ์อันดีกับกษัตริย์เอเชีย เสริมความแข็งแกร่งให้ยัฟฟา เซซาเรีย และไซดอน หลังได้รู้ข่าวการสิ้นพระชนม์ของพระราชมารดา หลุยส์ที่ 9 เดินทางกลับฝรั่งเศสหลังจากไปเป็นเวลาหกปีและมุ่งมั่นที่จะบริหารบ้านเมือง

การดูแลกิจการภายใน

[แก้]
ภาพพระเจ้าหลุยส์กำลังพิจารณาคดีความใต้ต้นโอ๊กแห่งแว็งซ็อง โดยปิแอร์-นาร์ซีส เกแร็ง ค.ศ. 1816

หลุยส์ที่ 9 เคารพในสิทธิ์ของข้าราชบริพาร พระองค์ปฏิรูปราชสำนักขนานใหญ่ ทรงกำจัดจุดอ่อนของระบบศักดินาซึ่งไม่อนุญาตให้มีศาลสูงสุดในราชอาณาจักร ทรงสถาปนาหลักสามัญให้กษัตริย์มีสิทธิ์ในการแทรกแซงกิจการภายในของผู้อยู่ใต้การปกครอง ทรงห้ามไม่ให้ขัดแย้งกันในราชสำนักและห้ามไม่ให้ขุนนางทำสงครามกันเอง ทรงอนุญาตให้ผู้ที่ไม่พอใจคำตัดสินของศาลท้องถิ่นมีสิทธิ์อุทธรณ์ต่อศาลของกษัตริย์ จนเกิดเป็นเรื่องเล่าว่าหลังการทำมิสซา พระเจ้าหลุยส์จะออกจากราชสำนักไปนั่งใต้ต้นโอ๊กเพื่อรับฟังคำร้องเรียน

ภายใต้การปกครองของหลุยส์ที่ 9 อำนาจการพิจารณาคดีของกษัตริย์เพิ่มขึ้นอย่างมาก องค์กรพิจารณาคดีกลางคือรัฐสภาฝรั่งเศสอันประกอบด้วยกลุ่มขุนนางและนักกฎหมาย การบริหารบ้านเมืองทุกแขนงอยู่ภายใต้สายตาที่จับมองของพระเจ้าหลุยส์ผู้ทำทุกวิถีทางเพื่อขยายอำนาจของกษัตริย์ ทรงเพลิดเพลินกับอิทธิพลที่มีมากมาย ภายใต้การปกครองของพระเจ้าหลุย์ได้มีการร่างประมวลกฎหมายจารีตประเพณีที่ประกาศใช้ในรัชสมัยของพระองค์ พระเจ้าหลุยส์ปกป้องผลประโยชน์ของฝรั่งเศสจากการอ้างสิทธิ์ของโรม นักบวชฝรั่งเศสอยู่ข้างพระเจ้าหลุยส์และเอนเอียงอยู่ฝั่งอำนาจทางโลกมากกว่าสมเด็จพระสันตะปาปา ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1269 พระเจ้าหลุยส์ประกาศคว่ำบาตรในทางปฏิบัติเพื่อคุ้มครองเอกราชของศาสนจักรฝรั่งเศสจากโรม ทรงล้มเลิกข้อเรียกร้องทางการเงินและเลิกบริจาคเงินให้แก่ราชสำนักโรม ในช่วงแห่งความขัดแย้งระหว่างจักรพรรดิฟรีดริชที่ 2 แห่งราชวงศ์โฮเอินชเตาเฟินกับสมเด็จพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ 4 พระเจ้าหลุยส์ประณามการกระทำของพระสันตะปาปาอย่างเปิดเผย

เหรียญในรัชสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 9 ด้านหน้าและด้านหลัง

ในปี 1263 ระบบเงินตรามีประสิทธิภาพมาก เหรียญที่ออกโดยพระมหากษัตริย์ถูกใช้อย่างแพร่หลายในฝรั่งเศส

หลุยส์ที่ 9 รักหนังสือและงานศิลป์ พระองค์ถูกเรียกว่าเพริคลีสแห่งสถาปัตยกรรมสมัยกลาง ทรงก่อตั้งวัดคริสต์หลายแห่ง ได้แก่ อาสนวิหารแร็ง โบสถ์แซ็งต์ชาแปลในปารีส อารามโรโยโมน เป็นต้น

ในปี 1239 สมเด็จพระสันตะปาปาเกรกอรีที่ 9 มีคำสั่งให้กำจัดสำเนาคัมภีร์ทัลมุดทุกเล่มที่ออกโดยชาวยิว ในปี 1240 พระเจ้าหลุยส์ที่ 9 ได้เข้ามามีส่วนในความขัดแย้งระหว่างชาวคริสต์กับชาวยิว (หรือนักบวชคริสต์กับนักบวชยิว) หลังพระคัมภีร์ของผู้นับถือศาสนายูดายถูกประณาม ในปี 1242 ในปารีส ได้มีการเผารถเข็บบรรจุคัมภีร์ทัลมุดที่ยึดมาจากชาวยิว

สงครามครูเสดครั้งที่ 8 และการสวรรคตในตูนิเซีย

[แก้]
ภาพการสวรรคตของพระเจ้าหลุยส์ จากพงศาวการแซ็งต์เดอนี

ความล้มเหลวของสงครามครูเสดครั้งที่ 7 ไม่ได้ดับไฟแห่งความกระตือรือร้นของหลุยส์ที่ 9 ในปี 1267 พระองค์ได้รับอนุญาตจากสมเด็จพระสันตะปาปาเคลเมนต์ที่ 4 ให้ออกไปทำศึกทางทหารในแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1270 ทรงออกเดินทางไปตูนิสด้วยความหวังที่จะเปลี่ยนเคาะลีฟะห์มูฮัมหมัดที่ 1 อัลมัสตาซีร์ให้เป็นชาวคริสต์ ระหว่างกำลังรอความช่วยเหลือทางทหารจากเคานต์แห่งพรอว็องส์และชาร์ลส์ที่ 1 แห่งอ็องฌู กษัตริย์แห่งซิซิลี พระเจ้าหลุยส์หมดเรี่ยวแรง เริ่มเกิดโรคระบาดขึ้นในกองทัพอัศวินครูเสด ฌ็อง ตริสต็อง พระราชโอรสของพระเจ้าหลุยส์สิ้นพระชนม์ และในวันที่ 3 สิงหาคม ตัวพระเจ้าหลุยส์เองได้ล้มป่วย ทว่ากษัตริย์ที่ป่วยยังคงเดินหน้านำกองทัพและต้อนรับคณะราชทูตของจักรพรรดิมิคาเอลที่ 8 พาไลโอโลกอสแห่งจักรวรรดิไบเซนไทน์

วันที่ 8 สิงหาคม ค.ศ. 1270 หลุยส์ที่ 9 เสด็จสวรรคตอย่างกระทันหันและอีกสองวันต่อมา ดูแฟ็งฟีลิป พระราชโอรสของพระองค์ได้รับการประกาศเป็นกษัตริย์คนใหม่ของฝรั่งเศส

ภาพการแต่งตั้งนักบุญหลุยส์ โดยกีโยมแห่งแซ็งต์-ปาตู

ร่างของพระเจ้าหลุยส์ที่ 9 ถูกชาร์ลส์แห่งอ็องฌู พระอนุชาเคลื่อนย้ายไปซิซิลีและทำการฝังในอาสนวิหารมอนเรอาเล ภายหลังร่างของพระองค์ถูกเคลื่อนย้ายไปแซ็งต์เดอนี

ทันทีหลังการสวรรคต พระเจ้าฟีลิปที่ 3 พระราชโอรสของพระองค์ก็ตั้งคำถามว่าควรแต่งตั้งพระองค์เป็นนักบุญหรือไม่ โดยมีบุคคลผู้ทรงอิทธิพลมากมายในฝรั่งเศสให้การสนับสนุน 27 ปีต่อมาในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1297 สมเด็จพระสันตะปาปาโบนิเฟสที่ 8 ได้ประกาศให้พระองค์เป็นนักบุญ ด้วยพระองค์ต้องการฟื้นฟูความสัมพันธ์อันดีกับพระเจ้าฟีลิปที่ 4 พระเจ้าหลุยส์ได้รับการยกย่องเป็นนักบุญในชื่อนักบุญหลุยส์ชาวฝรั่งเศส ทรงเป็นกษัตริย์ฝรั่งเศสคนแรกที่ได้เป็นนักบุญ โดยมีเพียงพระเจ้าดาโกแบร์ที่ 2 คนเดียวที่ได้รับการพิจารณาให้เป็นนักบุญก่อนหน้าจะมีการแต่งตั้งเป็นนักบุญอย่างเป็นทางการ

พระราชบุตร

[แก้]
ภาพพระราชบุตรของพระเจ้าหลุยส์ที่ 9 ได้แก่ หลุยส์, ฟีลิป, ฌ็อง, อีซาแบล, ปิแอร์ และรอแบร์ โดยฟร็องซัว รอแฌร์ เดอ เกนแญร์ ในคริสต์ศตวรรษที่ 18

พระเจ้าหลุยส์อภิเษกสมรสเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม ค.ศ. 1234 ในอาสนาวิหารซ็อง กับมาร์เกอรีตแห่งพรอว็องส์ ธิดาของราโมน บารังเกที่ 4 เคานต์แห่งพรอว็องส์ กับเบียตรีสแห่งซาวอย ทั้งคู่มีพระราชบุตรด้วยกัน 11 คน คือ

  • บล็องช์ (ประสูติ ค.ศ. 1240) สิ้นพระชนม์ด้วยวัย 3 พรรษา
  • อีซาแบล (ประสูติ ค.ศ. 1242) สมรสกับพระเจ้าตีโบที่ 2 และเป็นพระราชินีคู่สมรสแห่งนาวาร์
  • หลุยส์ (ประสูติ ค.ศ. 1244) ดูแฟ็งแห่งฝรั่งเศส ถูกจับหมั้นหมายกับอิซาเบลแห่งอารากอนตามเงื่อนไขในสนธิสัญญากอร์เบล สิ้นพระชนม์ก่อนอันควรด้วยวัย 16 พรรษา (อาจเป็นไส้ติ่งอักเสบ)
  • ฟีลิป (ประสูติ ค.ศ. 1245) ขึ้นเป็นดูแฟ็งหลังพระเชษฐาสิ้นพระชนม์ จึงถูกจับหมั้นหมายและสมรสกับอิซาเบลแห่งอารากอน หลังพระราชบิดาสิ้นพระชนม์ ทรงขึ้นเป็นกษัตริย์ฝรั่งเศสนามว่าพระเจ้าฟีลิปที่ 3 ผู้อาจหาญ
  • ฌ็อง (ประสูติ ค.ศ. 1248) สิ้นพระชนม์หลังคลอด
  • ฌ็อง ตริสต็อง (ประสูติ ค.ศ. 1250) ประสูติขณะพระราชบิดาถูกชาวมุสลิมจับตัวไปเรียกค่าไถ่ ทรงสมรสกับโยล็องด์แห่งบูร์กอญและขึ้นเป็นเคานต์แห่งเนอแวร์หลังอูเดส์แห่งบูร์กอญถึงแก่กรรม ต่อมาสิ้นพระชนม์ในสงครามครูเสดครั้งที่ 8
  • ปิแอร์ (ประสูติ ค.ศ. 1251) ประสูติในแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ขณะพระราชบิดามารดากำลังออกจาริกแสวงบุญ ทรงสมรสกับฌวน เดอ ชาตีลยง
  • บล็องช์ (ประสูติ ค.ศ. 1253) ประสูติในแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์เช่นเดียวกับพระเชษฐา พระราชบิดาประสงค์ให้บวชเป็นแม่ชีในวิหารโมบีซง แต่พระนางปฏิเสธ ทรงสมรสกับเฟร์นันโด เด ลา เกร์ดา อินฟันตาแห่งกัสติยา
  • มาร์เกอรีต (ประสูติ ค.ศ. 1254) สมรสกับยอนที่ 1 ดยุคแห่งบราบองต์ ทรงสิ้นพระชนม์ในการคลอดบุตร
  • รอแบร์ (ประสูติ ค.ศ. 1257) สมรสกับเบียตรีสแห่งบูร์กอญ เลดีแห่งบูร์บง ทรงเป็นต้นตระกูลบูร์บงของราชวงศ์กาแป และเป็นพระอัยกาของพระเจ้าอ็องรีที่ 4 แห่งฝรั่งเศส
  • แอนเญ็ส (ประสูติ ค.ศ. 1260) สมรสกับรอแบร์ที่ 2 ดยุคแห่งบูร์กอญ

อ้างอิง

[แก้]
  • LOUIS IX (1214-1270) THE HOLY
  • Joinville, Jean de, La vie de saint Louis, ed. Noel L. Corbett. (Sherbrooke: Naaman, 1977).
  • The Seventh Crusade, 1244-1254: Sources and Documents. Tr. by Peter Jackson (Aldershot, Ashgate, 2007), Pp. xi, 256 (Crusade Texts in Translation, 16).
  • M. C. Gaposchkin, "Louis IX, crusade and the promise of Joshua in the Holy Land," Journal of Medieval History, 34,3 (2008), 245-274.

ดูเพิ่ม

[แก้]
  翻译: