สตาร์ วอร์ส
สตาร์ วอร์ส | |
---|---|
สร้างโดย | จอร์จ ลูคัส |
งานต้นฉบับ | สตาร์ วอร์ส (ค.ศ. 1977)[a][b] |
เจ้าของ | ลูคัสฟิล์ม |
ปี | ค.ศ. 1977 | –ปัจจุบัน
สื่อสิ่งพิมพ์ | |
หนังสือ | รายชื่อหนังสืออ้างอิง |
นวนิยาย | รายชื่อนวนิยาย |
เรื่องสั้น | ดูที่รายชื่อนวนิยาย |
การ์ตูน | รายชื่อหนังสือการ์ตูน |
การ์ตูนช่อง | ดูที่รายชื่อหนังสือการ์ตูน |
นิตยสาร | สตาร์ วอร์ส อินไซเดอร์ (ค.ศ. 1987–ปัจจุบัน) |
ภาพยนตร์และโทรทัศน์ | |
ภาพยนตร์ | รายชื่อภาพยนตร์ |
ละครโทรทัศน์ | รายชื่อรายการโทรทัศน์ |
รายการโทรทัศน์พิเศษ | ดูที่รายชื่อรายการโทรทัศน์ |
ภาพยนตร์โทรทัศน์ | ดูที่รายชื่อภาพยนตร์ |
เกม | |
สวมบทบาท | รายชื่อเกมสวมบทบาท |
วิดีโอเกม | รายชื่อวิดีโอเกม |
เสียง | |
รายการวิทยุ(s) | รายชื่อละครวิทยุ |
เพลงต้นฉบับ | เพลง |
เบ็ดเตล็ด | |
ของเล่น | สินค้า |
รายชื่อเครื่องเล่นสวนสนุก |
สตาร์ วอร์ส (อังกฤษ: Star Wars) เป็นสื่อแฟรนไชส์แนวมหากาพย์บันเทิงคดีอวกาศ[1] สร้างโดย จอร์จ ลูคัส ซึ่งเริ่มต้นจากภาพยนตร์เมื่อปี ค.ศ. 1977[c] และกลายเป็นปรากฏการณ์วัฒนธรรมประชานิยมที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วทั่วโลก แฟรนไชส์ได้มีการขยายเป็นสื่อต่าง ๆ ประกอบด้วยภาพยนตร์หลายเรื่อง, รายการโทรทัศน์, วิดีโอเกม, นวนิยาย, หนังสือการ์ตูน, เครื่องเล่นและพื้นที่สวนสนุก ประกอบกันเป็นจักรวาลสมมติ[d] ณ ปี ค.ศ. 2020 มูลค่ารวมของแฟรนไชส์ สตาร์ วอร์ส คาดว่ามีมูลค่าประมาณ 7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นหนึ่งในสื่อแฟรนไชส์ที่ทำเงินสูงสุดตลอดกาล
ภาพยนตร์ต้นฉบับ (สตาร์ วอร์ส) ต่อมาได้เพิ่มชื่อตอนเป็น เอพพิโซด 4 ความหวังใหม่ (ค.ศ. 1977) ตามมาด้วยภาคต่อ เอพพิโซด 5 จักรวรรดิเอมไพร์โต้กลับ (ค.ศ. 1980) และ เอพพิโซด 6 การกลับมาของเจได (ค.ศ. 1983) รวมกันเป็นสตาร์ วอร์ส ไตรภาคดั้งเดิม ต่อมา ลูคัสกลับมากำกับภาพยนตร์ สตาร์ วอร์ส อีกครั้ง โดยเขียนบทและกำกับไตรภาคต้น ประกอบด้วย เอพพิโซด 1 ภัยซ่อนเร้น (ค.ศ. 1999), เอพพิโซด 2 กองทัพโคลนส์จู่โจม (ค.ศ. 2002) และ เอพพิโซด 3 ซิธชำระแค้น (ค.ศ. 2005) เมื่อปี ค.ศ. 2012 ลูคัสได้ขายลูคัสฟิล์มให้กับดิสนีย์ และสละสิทธิ์การเป็นเจ้าของแฟรนไชส์ของเขา ซึ่งต่อมาดิสนีย์ได้สร้างไตรภาคต่อ ประกอบด้วย เอพพิโซด 7: อุบัติการณ์แห่งพลัง (ค.ศ. 2015), เอพพิโซด 8: ปัจฉิมบทแห่งเจได (2017) และ เอพพิโซด 9: กำเนิดใหม่สกายวอล์คเกอร์ (ค.ศ. 2019) ทั้งหมดรวมกันทั้งสามไตรภาคเรียกว่า "มหากาพย์สกายวอล์คเกอร์"
ภาพยนตร์ทั้งเก้าเรื่องใน 'มหากาพย์สกายวอล์คเกอร์' ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ โดยภาพยนตร์สองเรื่องแรกของแฟรนไชส์นั้นได้รับรางวัล เมื่อรวมกับภาพยนตร์เนื้อเรื่องแยกอย่าง โร้ค วัน: ตำนานสตาร์ วอร์ส (ค.ศ. 2016) และ ฮาน โซโล: ตำนานสตาร์ วอร์ส (ค.ศ. 2018) แล้ว ภาพยนตร์ชุดนั้นทำเงินได้มากกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ[3] ทำให้ สตาร์ วอร์ส เป็นแฟรนไชส์ภาพยนตร์ที่ทำเงินสูงสุดเป็นอันดับที่สาม[4][5]
ฉากหลัง
[แก้]แฟรนไชส์ สตาร์ วอร์ส นำเสนอการผจญภัยของกลุ่มตัวละครใน "นานมาแล้วในหมู่ดวงดาวอันไกลโพ้น (อังกฤษ: A long time ago in a galaxy far, far away)"[6] ที่ซึ่งมนุษย์และมนุษย์ต่างดาวหลากหลายเผ่าพันธุ์ (ส่วนใหญ่มีลักษณะคล้ายมนุษย์) อาศัยอยู่ร่วมกับหุ่นยนต์ (หรือในภาพยนตร์มักเรียกว่า 'ดรอยด์') ที่อาจจะได้รับการโปรแกรมช่วยเหลือพวกเขาในกิจวัตรประจำวัน หรือเพื่อต่อสู้[7] การเดินทางในอวกาศระหว่างดาวเคราะห์ต่าง ๆ นั้นเป็นเรื่องปกติ เพราะมีเทคโนโลยีไฮเปอร์สเปซ[8][9][10] ดาวเคราะห์ต่าง ๆ นั้นมีตั้งแต่ดาวเคราะห์ที่มั่งคั่ง ดาวเคราะห์ที่ทั้งดาวนั้นเป็นเมือง ไปจนถึงดาวที่มีแต่ทะเลทรายและมีประชากรที่เบาบางและเป็นเพียงชนเผ่าพื้นเมือง ทุกชีวนิเวศบนโลก ไปจนถึงชีวนิเวศสมมตินั้น สามารถพบในรูปแบบที่คล้ายคลึงกันได้ในดาวเคราะห์ของ สตาร์ วอร์ส ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วนั้น เต็มไปด้วยมนุษย์ต่างดาวที่ทั้งทรงปัญญาและไม่ทรงปัญญา[11] นอกจากนี้ แฟรนไชส์ยังมีการนำวัตถุทางดาราศาสตร์อื่น ๆ เช่น สนามดาวเคราะห์น้อยและเนบิวลามาใช้ในการดำเนินเรื่องอีกด้วย[12][13] ขนาดของยานอวกาศนั้นมีตั้งแต่ ยานขับไล่ขนาดเล็กคล้ายเครื่องบิน เช่น ยานทายไฟเตอร์ (อังกฤษ: TIE fighter) ยานอวกาศขนาดใหญ่อย่าง ยานพิฆาตดารา (อังกฤษ: Star Destroyer) และสถานีอวกาศขนาดเท่าดวงจันทร์อย่าง ดาวมรณะ (อังกฤษ: Death Star)[14][15][16] โทรคมนาคมนั้นประกอบด้วยการพูดคุยด้วยเสียงสองทิศทาง จอที่มีทั้งภาพและเสียง การฉายภาพโฮโลแกรม และการสื่อสารผ่านไฮเปอร์สเปซ[17]
จักรวาลของสตาร์ วอร์ส นั้นมีความคล้ายคลึงกับจักรวาลในความเป็นจริง แต่กฏของฟิสิกส์มีความยืดหยุ่นมากกว่า เพื่อให้สามารถจินตนาการเรื่องราว ๆ ต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น[18] หนึ่งในนี้คือพลังอำนาจลึกลับที่ถูกเรียกว่า "พลัง" ซึ่งตามภาพยนตร์ฉบับดั้งเดิมถูกอธิบายไว้ว่าเป็น "สนามพลังงานที่ถูกสร้างขึ้นโดยสิ่งมีชีวิตทุกชนิด...[ซึ่ง]รวมกาแลกซีให้เป็นหนึ่งเดียว"[19] สนามพลังนี้ถูกบรรยายว่าเป็นพระเจ้าในแบบสรรพเทวนิยม[20] หากผ่านการฝึกฝนและการทำสมาธิ ผู้ที่ "มีพลังที่กล้าแกร่ง" จะสามารถใช้พลังที่มีความสามารถเหนือธรรมชาติหลายอย่าง (เช่น พลังเคลื่อนย้าย, การทำนายอนาคต, โทรจิตและการเปลี่ยนแปลงพลังงานทางกายภาพ)[21] มีความเชื่อว่าไม่มีอะไรเป็นไปไม่ได้สำหรับพลัง[22] พลังนั้นถูกใช้งานโดยสองนิกายหลักซึ่งมีความขัดแย้งต่อกัน ได้แก่ เจได กองกำลังรักษาสันติภาพของสาธารณรัฐกาแลกติก ผู้ที่ใช้พลังในด้านสว่างผ่านการปล่อยวางและอนุญาโตตุลาการ และ ซิธ ศัตรูโบราณของระบอบประชาธิปไตยในกาแลกติก ผู้ที่ใช้พลังในด้านมืดโดยใช้ความกลัวและความก้าวร้าว[23][24] ขณะที่อัศวินเจไดนั้นมีจำนวนมาก แต่ลอร์ดมืดแห่งซิธ (หรือ 'ดาร์ธ') จำกัดอยู่ที่สองคนเท่านั้นคือ หนึ่งอาจารย์และหนึ่งศิษย์[25]
แฟรนไชส์นี้ดำเนินเรื่องเกี่ยวกับความขัดแย้งในกาแลกซี โดยมีสาธารณรัฐและจักรวรรดิต่าง ๆ เช่น จักรวรรดิกาแลกติกที่ชั่วร้าย[26] ผู้ใช้พลังนั้นมีจำนวนจำกัดเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรทั้งหมดโดยทั่วไป เจไดและซิธเลือกใช้อาวุธที่เรียกว่า กระบี่แสง (อังกฤษ: Lightsaber) มีด้ามจับดาบคล้ายรูปทรงกระบอก (เมื่อปิด) แต่เมื่อเปิดจะทำให้เกิดพลังงานเป็นใบมีดที่สามารถตัดผ่านพื้นผิวแทบทุกชนิดและตีกลับกระสุนพลังงานได้[27] การต่อสู้ระหว่างสองฝ่ายส่งผลให้เกิดการดวล ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างทักษะการใช้ดาบและการใช้พลัง ประชากรโดยทั่วไปที่เหลือ รวมถึงคนทรยศและทหาร ใช้อาวุธเป็นปืนที่ใช้พลังพลาสมาที่เรียกว่าบลาสเตอร์ ในบริเวณรอบนอกกาแลกซี มีองค์กรอาชญากรรมอย่าง กลุ่มฮัตต์ซึ่งมีอิทธิพล[28] มีนักล่าเงินรางวัลคล้ายกับในภาพยนตร์แนวตะวันตก ซึ่งมักจะถูกจ้างโดยทั้งนักเลงและรัฐบาล มีการกระทำที่ผิดกฎหมาย เช่น การลักลอบขนของเถื่อนและการค้าทาส[28]
การที่มีทั้งองค์ประกอบในเรื่องบันเทิงคดีวิทยาศาสตร์และเรื่องจินตนาการนั้น ทำให้ สตาร์ วอร์ส เป็นแฟรนไชส์ที่ทุกคนเข้าถึงได้ และสามารถเล่าเรื่องในหลาย ๆ ประเภท[29]
ภาพยนตร์
[แก้]มหากาพย์สกายวอล์คเกอร์
[แก้]ภาพยนตร์ | วันฉายในสหรัฐ | กำกับโดย | บทภาพยนตร์โดย | เนื้อเรื่องโดย | อำนวยการสร้างโดย | อ้างอิง |
---|---|---|---|---|---|---|
ไตรภาคเดิม, เอพพิโซด 4–6 | ||||||
สตาร์ วอร์ส | 25 พฤษภาคม ค.ศ. 1977 | จอร์จ ลูคัส | แกรี เคิร์ทซ์ | [30][31] | ||
จักรวรรดิเอมไพร์โต้กลับ | 21 พฤษภาคม ค.ศ. 1980 | เออร์วิน เกิร์ชเนอร์ | ลีห์ แบรคเกตต์และ ลอว์เรนซ์ แคสแดน |
จอร์จ ลูคัส | [32][33] | |
การกลับมาของเจได | 25 พฤษภาคม ค.ศ. 1983 | ริชาร์ด มาร์ควานด์ | ลอว์เรนซ์ แคสแดน และ จอร์จ ลูคัส |
ฮาเวิร์ด คาแซนเจียน | [34][35] | |
ไตรภาคต้น, เอพพิโซด 1–3 | ||||||
ภัยซ่อนเร้น | 19 พฤษภาคม ค.ศ. 1999 | จอร์จ ลูคัส | จอร์จ ลูคัส | จอร์จ ลูคัส | ริก แม็คคาลัม | [36] |
กองทัพโคลนส์จู่โจม | 16 พฤษภาคม ค.ศ. 2002 | จอร์จ ลูคัส และ โจนาธาน เฮลส์ |
[37][38] | |||
ซิธชำระแค้น | 19 พฤษภาคม ค.ศ. 2005 | จอร์จ ลูคัส | [39][40] | |||
ไตรภาคต่อ, เอพพิโซด 7–9 | ||||||
อุบัติการณ์แห่งพลัง | 18 ธันวาคม ค.ศ. 2015 | เจ.เจ. แอบรัมส์ | เจ.เจ. แอบรัมส์กับลอว์เรนซ์ แคสแดนและ ไมเคิล อารดต์ |
แคธลีน เคนเนดี, เจ.เจ. แอบรัมส์และ ไบรอัน เบิร์ก |
[34][41] | |
ปัจฉิมบทแห่งเจได | 15 ธันวาคม ค.ศ. 2017 | ไรอัน จอห์นสัน | แคธลีน เคนเนดีและรัม เบิร์กแมน | [42][43] | ||
กำเนิดใหม่สกายวอล์คเกอร์ | 20 ธันวาคม ค.ศ. 2019 | เจ.เจ. แอบรัมส์ | คริส เทอร์ริโอกับ เจ.เจ. แอบรัมส์ |
เดเรก คอนนอลลีกับคอลิน เทอร์วอร์โรว์และ คริส เทอร์ริโอกับเจ.เจ. แอบรัมส์ |
แคธลีน เคนเนดี, เจ.เจ. แอบรัมส์และ มิเชลล์ เรจวาน |
[44][45] |
ภาพยนตร์ชุด สตาร์ วอร์ส มีศูนย์กลางอยู่ที่ไตรภาคทั้งสามชุด ซึ่งเรียกรวมกันว่า "มหากาพย์สกายวอล์คเกอร์ (อังกฤษ: Skywalker saga)"[46] การสร้างภาพยนตร์นั้นไม่ได้สร้างตามลำดับเหตุการณ์โดย เอพพิโซด 4–6 (ไตรภาคเดิม) ฉายระหว่างปี ค.ศ. 1977 ถึง 1983 เอพพิโซด 1–3 (ไตรภาคต้น) ฉายระหว่างปี ค.ศ 1999 ถึง 2005 และ เอพพิโซด 7–9 (ไตรภาคต่อ) ฉายระหว่างปี ค.ศ. 2015 ถึง 2019
แต่ละไตรภาคมุ่งเน้นไปที่ ครอบครัวสกายวอล์คเกอร์ในแต่ละรุ่นซึ่งมีสัมผัสถึงพลังและความพยายามของพวกเขาในการสู้กับซิธลอร์ด พัลพาทีน (ดาร์ธ ซีเดียส) ที่ชั่วร้าย[47] ในไตรภาคเดิมแสดงให้เห็นถึงการพัฒนาอย่างกล้าหาญของ ลุค สกายวอล์คเกอร์ ในฐานะเจไดและการที่เขาต่อสู้จักรวรรดิกาแลกติกของพัลพาทีน เคียงข้างน้องสาวของเขา เลอา[48] ในไตรภาคต้นเล่าเรื่องราวของพ่อของเขา อนาคิน ผู้ที่ถูกครอบงำโดยพัลพาทีนและกลายเป็น ดาร์ธ เวเดอร์[49] ขณะที่ไตรภาคต่อเล่าเรื่องราวของความขัดแย้งระหว่างลูกของเลอา เบน โซโล และผู้อยู่ภายใต้อุปถัมภ์ของลุคและเลอา เรย์ และการเป็นพันธมิตรกันในท้ายที่สุดของพวกเขาเพื่อต่อสู้กับพัลพาทีนหลังจากที่จักรวรรดิล่มสลาย[50]
ไตรภาคเดิม
[แก้]เมื่อปี ค.ศ. 1971 จอร์จ ลูคัส ต้องการสร้างภาพยนตร์ที่ดัดแปลงจาก ภาพยนตร์ฉายเป็นตอนของ แฟลชกอร์ดอน แต่ว่าเขาไม่ได้รับสิทธิ์นั้น เขาจึงเริ่มต้นพัฒนาภาพยนตร์บันเทิงคดีแนวอวกาศของเขา[51][e] หลังลูคัสกำกับภาพยนตร์เรื่อง อเมริกันกราฟฟิติ (ค.ศ. 1973) เขาได้เขียนเรื่องย่อของภาพยนตร์ สตาร์ วอร์ส จำนวนสองหน้า ซึ่งทเวนตีท์เซนจูรีฟอกซ์ได้ตัดสินใจลงทุน[52][53][54] เมื่อปี ค.ศ. 1974 เขาได้ขยายเรื่องราวไปสู่ร่างบทแรกของบทภาพยนตร์[55] ทางฟอกซ์นั้นคาดการณ์ไว้ว่าภาพยนตร์นี้จะประสบความสำเร็จทางรายด้ายที่จำกัด จึงให้งบประมาณที่ค่อนข้างน้อย และย้ายการสร้างภาพยนตร์ไปยัง เอสทรีสตูดิโอส์ ในประเทศอังกฤษ เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย[56]
สตาร์ วอร์ส ฉายเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม ค.ศ. 1977 ซึ่งต่อมาได้เพิ่มชื่อตอนเป็น เอพพิโซด 4: ความหวังใหม่ ในหนังสือ ดิอาร์ตออฟสตาร์ วอร์ส เมื่อปี ค.ศ. 1979[57] หลังภาพยนตร์เรื่องแรกประสบความสำเร็จ ทำให้ลูคัสสร้างรากฐานให้กับการสร้างภาพยนตร์ฉายเป็นตอนที่ละเอียดซับซ้อน[58] ลูคัสตัดสินใจว่าภาพยนตร์ชุดนี้จะเป็นไตรภาค ด้วยเนื้อเรื่องที่เขาเขียนไว้สำหรับสร้างภาคต่อ[59] นักแสดงหลักส่วนใหญ่จะกลับมาในภาพยนตร์อีกสองเรื่องในไตรภาคเดิม ซึ่งลูคัสฟิล์มเป็นผู้ออกทุนเอง เอพพิโซด 5: จักรวรรดิเอมไพร์โต้กลับ ฉายเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม ค.ศ. 1980 ประสบความสำเร็จทั้งในด้านรายได้และคำวิจารณ์ ภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายในไตรภาค เอพพิโซด 6: การกลับมาของเจได ฉายเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม ค.ศ. 1983 เรื่องราวของไตรภาคเดิมนั้นมุ่งเน้นที่ ลุค สกายวอล์คเกอร์ กับการฝึกฝนเพื่อการเป็นอัศวินเจได ทั้งนี้ยังต้องต่อสู้กับดาร์ธ เวเดอร์ ตัวแทนความชั่วร้ายของจักรวรรดิ และช่วยเหลือเหล่าพันธมิตรกบฏเพื่อให้กาแลกซีรอดพ้นจากเงื้อมมือของจักรวรรดิกาแลกติก
ไตรภาคต้น
[แก้]ผู้อำนวยการสร้าง แกรี เคิร์ทซ์ กล่าวว่า แผนคร่าว ๆ ของไตรภาคต้นได้มีการพัฒนาในช่วงระหว่างการร่างภาพยนตร์สองเรื่องแรก[60] เมื่อปี ค.ศ. 1980 ลูคัสยืนยันว่าเขามีเนื้อเรื่องสำหรับภาพยนตร์เก้าเรื่องอยู่แล้ว[61] แต่เขาตัดสินใจยกเลิกภาพยนตร์ภาคต่อในปี ค.ศ. 1981 เนื่องจากความเครียดในการถ่ายทำไตรภาคเดิม[62] เมื่อปี ค.ศ. 1983 ลูคัสอธิบายว่า "ไม่เคยมีบทภาพยนตร์ที่เสร็จสมบูรณ์ที่มีเรื่องราวทั้งหมดในตอนนี้ ... เมื่อกางเนื้อเรื่องออกมา ผมอยากจะเลือกความคิดบางอย่างและเก็บมันไว้ ... ผมเก็บส่วนที่ดีทั้งหมดเอาไว้ และผมก็บอกกับตัวเองอยู่เรื่อย ๆ ว่าผมจะทำภาพยนตร์เรื่องอื่นซักวัน"[63]
ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในช่วงปลายทศวรรษ 1980 และช่วงต้นทศวรรษ 1990 รวมไปถึงการสร้างภาพจากคอมพิวเตอร์ (ซีจีไอ) ดลใจให้ลูคัสพิจารณาว่าเขาอาจจะกลับไปทบทวนมหากาพย์ของเขาอีกครั้ง เมื่อปี ค.ศ. 1989 ลูคัสกล่าวว่าภาพยนตร์ในไตรภาคต้นนั้นจะ "แพงอย่างไม่น่าเชื่อ"[64] เมื่อปี ค.ศ. 1992 เขายอมรับว่าเขามีแผนที่จะสร้างไตรภาคต้น[65] การฉายใหม่ของไตรภาคเดิมเมื่อปี ค.ศ. 1997 ได้มีการ "ปรับปรุง" ภาพยนตร์อายุยี่สิบปีด้วยการใส่ซีจีไอเพื่อให้จินตนาการถึงไตรภาคใหม่
เอพพิโซด 1: ภัยซ่อนเร้น ฉายเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม ค.ศ. 1999 และ เอพพิโซด 2: กองทัพโคลนส์จู่โจม ฉายเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม ค.ศ. 2002 เอพพิโซด 3: ซิธชำระแค้น ฉายเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม ค.ศ. 2005 เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกในแฟรนไชส์ที่ได้เรตติง พีจี-13 (ไม่เหมาะกับผู้ชมอายุที่ต่ำกว่า 13 ปี)[66] ภาพยนตร์สองเรื่องแรกนั้นได้รับคำวิจารณ์ที่ผสมกัน ขณะที่ภาพยนตร์เรื่องที่สามนั้นได้รับคำวิจารณ์ดีกว่า ไตรภาคนี้เริ่มต้นเมื่อ 32 ปี ก่อน เอพพิโซด 4 เล่าเรื่องราวของการฝึกฝนเป็นเจไดของ อนาคิน สกายวอล์คเกอร์ พ่อของลุค จนในที่สุดเขาก็ได้เข้าสู่ด้านมืดแล้วกลายเป็นลอร์ดมืด ดาร์ธ เวเดอร์ อีกทั้งยังแสดงให้เห็นการเสื่อมลงของสาธารณรัฐกาแลกติกและการผงาดของจักรวรรดินำโดยดาร์ธ ซิเดียส เมื่อรวมกับไตรภาคเดิมแล้ว ลูคัสเรียกภาพยนตร์หกเรื่องในแฟรนไชส์นี้ว่า "โศกนาฏกรรมของดาร์ธ เวเดอร์"[67]
ไตรภาคต่อ
[แก้]ลูคัสได้วางแผน "ภาพยนตร์เก้าเรื่องของไตรภาคสามชุด" ก่อนการฉายภาพยนตร์ต้นฉบับซึ่งประสบความสำเร็จในเวลาต่อมา[59][68] เขาประกาศเรื่องนี้แก่ ไทม์ เมื่อปี ค.ศ. 1978,[69] และยืนยันว่าเขาได้ร่างเค้าโครงไว้แล้วเมื่อปี ค.ศ. 1981[70] ในระยะต่าง ๆ ของการพัฒนานั้น ไตรภาคต่อจะเน้นไปที่การฟื้นฟูของสาธารณรัฐ,[71] การกลับมาของลุคในฐานะปรมาจารย์เจได (ซึ่งคล้ายกับบทของโอบีวันในไตรภาคเดิม),[68] น้องสาวของลุค (ยังไม่ได้ตัดสินใจให้เป็น เลอา ในเวลานั้น),[60] ฮาน, เลอา,[72] อาร์ทูดีทูและซีทรีพีโอ[59][73] อย่างไรก็ตาม หลังจากเริ่มทำงานในไตรภาคต้น ลูคัสยืนยันว่าตั้งใจให้ สตาร์ วอร์ส เป็นภาพยนตร์ชุดแค่หกเรื่องและจะไม่มีการสร้างไตรภาคต่อ[74][75]
ลูคัสประกาศเมื่อเดือนมกราคม ค.ศ. 2012 ว่าเขาจะไม่สร้างภาพยนตร์ สตาร์ วอร์ส แล้ว และตัดสินใจปล่อยแฟรนไชส์ให้กับผู้สร้างภาพยนตร์คนอื่น[76] เดือนตุลาคมในปีเดียวกัน บริษัทเดอะวอลต์ดิสนีย์ ตกลงซื้อลูคัสฟิล์ม และประกาศว่า เอพพิโซด 7 จะฉายในปี ค.ศ. 2015[77] แคธลีน เคนเนดี ประธานร่วมของลูคัสฟิล์ม กลายเป็นประธานบริษัทและทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการสร้างฝ่ายบริหารของภาพยนตร์ สตาร์ วอร์ส เรื่องใหม่[78] ลูคัสให้โครงเรื่องของเขาสำหรับไตรภาคต่อแก่เคนเนดีในระหว่างการซื้อขายเมื่อปี ค.ศ. 2012[79] แต่ในปี ค.ศ. 2015 มีการเปิดเผยว่าโครงเรื่องภาคต่อของลูคัสนั้นจะไม่ถูกใช้[80][81] ไตรภาคต่อนั้นยังเป็นการสิ้นสุดของ จักรวาลขยายของสตาร์ วอร์ส ซึ่งทำให้หลุดออกจากการอยู่ในเส้นเรื่องหลักเพื่อให้ "อิสรภาพในการสร้างสรรค์สูงสุดต่อผู้สร้างภาพยนตร์และยังรักษาองค์ประกอบของความประหลาดใจและการค้นพบสำหรับผู้ชม"[2]
เอพพิโซด 7: อุบัติการณ์แห่งพลัง ฉายเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ค.ศ. 2015, เอพพิโซด 8: ปัจฉิมบทแห่งเจได ฉายเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม ค.ศ. 2017 และ เอพพิโซด 9: กำเนิดใหม่สกายวอล์คเกอร์ ฉายเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม ค.ศ. 2019 ในหลากหลายประเทศ[g] เอพพิโซด 7 ประสบความสำเร็จทั้งรายได้และคำวิจารณ์ และ เอพพิโซด 8 ประสบความสำเร็จทั้งรายได้และคำวิจารณ์เช่นกัน แต่ว่าได้รับการตอบรับที่หลากหลายจากผู้ชม [82] เอพพิโซด 9 ได้รับการตอบรับที่หลากหลายจากนักวิจารณ์และแฟน แม้ว่าผู้ชมจะชมไปทางค่อนข้างดี[83] ไตรภาคต่อนั้นเริ่มต้น 30 ปีหลัง เอพพิโซด 6 เน้นไปที่การผจญภัยของ เรย์ ผู้มีสัมผัสแห่งพลังซึ่งกำพร้า ถูกฝึกสอนโดย ลุค สกายวอร์คเกอร์ ยังมี ฟินน์ อดีตสตอร์มทรูปเปอร์ และ โพ ดาเมรอน นักบินเอ็กซ์-วิงมือหนึ่ง ทั้งสามคนช่วยเหลือ ขบวนการฝ่ายต่อต้าน นำโดยเลอาต่อสู้กับฝ่ายปฐมภาคีซึ่งบัญชาการโดย ไคโล เร็น ลูกชายของฮานและเลอา (และหลานชายของลุค)
ภาพยนตร์ชุดแยก
[แก้]ภาพยนตร์ | วันฉายในสหรัฐ | กำกับโดย | บทภาพยนตร์โดย | เนื้อเรื่องโดย | อำนวยการสร้างโดย | อ้างอิง |
---|---|---|---|---|---|---|
โร้ค วัน: ตำนานสตาร์ วอร์ส | 16 ธันวาคม ค.ศ. 2016 | แกเร็ธ เอ็ดเวิดส์ | คริส ไวตซ์และโทนี กิลรอย | จอห์น โนลล์และแกรี วิตตา | แคธลีน เคนเนดี, แอลลิสัน เชียร์เมอร์และ ไซมอน เอมานูเอล |
[84] |
ฮาน โซโล: ตำนานสตาร์ วอร์ส | 25 พฤษภาคม ค.ศ. 2018 | รอน ฮาวเวิร์ด | จอนาธาน แคสแดนและลอว์เรนซ์ แคสแดน | [85] |
มีภาพยนตร์หลายเรื่องที่มีการสร้างแยกต่างหากออกจากมหากาพย์สกายวอล์คเกอร์ ในปี ค.ศ. 2008 ลูคัสฟิล์มปล่อยภาพยนตร์แอนิเมชัน สงครามโคลน ซึ่งดำเนินเรื่องในช่วงไตรภาคต้นและทำหน้าที่ในฐานะภาพยนตร์นำร่องสำหรับละครชุดแอนิเมชันโทรทัศน์ เดอะ โคลน วอร์ส[86] หลังจากการเข้าซื้อลูคัสฟิล์มของดิสนีย์ในปี ค.ศ. 2012 ภาพยนตร์ชุดแยกที่ดำเนินเหตุการณ์ระหว่างเอพพิโซดหลักของมหากาพย์สกายวอล์คเกอร์นั้นได้เข้าสู่กระบวนการพัฒนา คู่ขนานไปกับการสร้างไตรภาคต่อ[87] โดยประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของดิสนีย์ เจย์ ราซูโล ได้อธิบายว่าเป็นเรื่องราวต้นกำเนิด[88]
ลูคัสฟิล์มและแคธลีน เคนเนดีกล่าวว่าภาพยนตร์ตอนเดี่ยวจะเรียกว่าภาพยนตร์ชุดแยก (Star Wars anthology series)[89] (ถึงแม้คำว่า anthology จะไม่ถูกใช้ในชื่อภาพยนตร์เรื่องใด ๆ แต่กลับใช้ชื่อต่อท้ายว่า "ตำนานสตาร์ วอร์ส (A Star Wars Story)" แทน) ภาพยนตร์เดี่ยวเรื่องแรกนั้นคือ โร้ค วัน ในปี ค.ศ. 2016 เล่าเรื่องราวก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ในภาพยนตร์ดั้งเดิมของ สตาร์ วอร์ส โดยเหล่ากบฏที่ขโมยแบบแปลนของดาวมรณะ ซึ่งเป็นอาวุรที่ทรงพลังของอาณาจักรกาแลกติก[90][91] โดยภาพยนตร์นั้นประสบความสำเร็จทั้งรายได้และคำวิจารณ์ ภาพยนตร์ที่สองคือ ฮาน โซโล ฉายในปี ค.ศ. 2018 และเล่าเรื่องราวพื้นหลังของตัวละคร ฮาน โซโล ในหลายปีก่อนภาพยนตร์ดั้งเดิมของ สตาร์ วอร์ส[92] โดยมีตัวละครเอกร่วมจากไตรภาคเดิมปรากฏตัว ได้แก่ ชิวแบคคาและแลนโด คาลริสเซียน และ ดาร์ธ มอล ตัวร้ายจากไตรภาคต้น ปรากฏตัวด้วยเช่นกัน ละครชุดโทรทัศน์ โอบีวัน เคโนบี นั้นแต่เดิมเคยถูกวางแผนให้เป็นภาพยนตร์ แต่ถูกเปลี่ยนเป็นละครชุดจำกัด เนื่องด้วยการที่ ฮาน โซโล ทำรายได้ไม่ดีเท่าที่คาดการณ์ไว้[93]
ภาพยนตร์ในอนาคต
[แก้]ภาพยนตร์ | วันฉายในสหรัฐ | กำกับโดย | บทภาพยนตร์โดย | เนื้อเรื่องโดย | อำนวยการสร้างโดย | สถานะ | อ้างอิง |
---|---|---|---|---|---|---|---|
เดอะแมนดาลอเรียน กับ โกรกู | 22 พฤษภาคม ค.ศ. 2026 | จอน แฟฟโรว์ | จอน แฟฟโรว์ และ เดฟ ฟิโลนี | จอน แฟฟโรว์, แคธลีน เคนเนดี และ เดฟ ฟิโลนี | กำลังถ่ายทำ | [94][95] | |
ภาพยนตร์ ภาคีเจไดใหม่ ที่ยังไม่มีชื่อ | รอประกาศ | ชาร์มีน โอเบด-ชีนอย | รอประกาศ | แคธลีน เคนเนดี | ก่อนการถ่ายทำ | [96] | |
ภาพยนตร์ ดอว์นออฟเดอะเจได ที่ยังไม่มีชื่อ | เจมส์ แมนโกลด์ | เจมส์ แมนโกลด์ และ เบว วิลลีมอน[97] | กำลังพัฒนา | [96] | |||
ภาพยนตร์ สาธารณรัฐใหม่ ที่ยังไม่มีชื่อ | เดฟ ฟิโลนี | แคธลีน เคนเนดี และ จอน แฟฟโรว์ | [96] |
ในเดือนเมษายน ค.ศ. 2023 มีการประกาศภาพยนตร์ สตาร์ วอร์ส ใหม่ซึ่งดำเนินเรื่องในแต่ละยุคของแฟรไชส์[98] มีภาพยนตร์ที่ยังไม่มีชื่อซึ่งเขียนบทและกำกับโดยเจมส์ แมนโกลด์ และดำเนินเรื่องในช่วง "ดอว์นออฟเดอะเจได"[98] เดฟฟิโลนีจะกำกับภาพยนตร์ที่ดำเนินเรื่องระหว่างไตรภาคเดิมและไตรภาคต่อในยุคของสาธารณรัฐใหม่ โดยภาพยนตร์นี้ทำหน้าที่เป็นจุดสำคัญทางอารมณ์สำหรับละครชุดโทรทัศน์ต่าง ๆ ที่เริ่มต้นด้วย เดอะแมนดาลอเรียน ในปี ค.ศ. 2019[98] ชาร์มีน โอเบด-ชีนอยจะมากำกับภาคยนตร์เรื่องที่สามซึ่งเกี่ยวกับภาคีเจไดใหม่ โดยดำเนินเรื่องสิบห้าปีหลังจากไตรภาคต่อ[96][99]
ในเดือนมกราคม ค.ศ. 2024 มีการประกาศว่าจอน แฟฟโรว์จะมากำกับภาพยนตร์ใหม่ของ สตาร์ วอร์ส ชื่อว่า เดอะแมนดาลอเรียน กับ โกรกู[100] ในเดือนกุมภาพันธ์ปีเดียวกันนั้น บ็อบ ไอเกอร์ประกาศว่าภาพยนตร์นี้จะเป็นภาพยนตร์แรกที่จะปล่อยตัวในภาพยนตร์ สตาร์ วอร์ส ชุดถัดไป[101] เดอะแมนดาลอเรียน กับ โกรกู นั้นกำหนดเวลาฉายรอบปฐมทัศน์ในวันที่ 22 พฤษภาคม ค.ศ. 2026[95]
โปรเจ็กต์อื่น ๆ ที่เป็นไปได้
[แก้]ลูคัสฟิล์มมีภาพยนตร์ สตาร์ วอร์ส จำนวนมากที่อยู่ในระหว่างการพัฒนา ประกอบด้วย:
- ภาพยนตร์ไตรภาคของ ไรอัน จอห์นสัน ที่ยังไม่มีชื่อ: ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2017 ภาพยนตร์ไตรภาคนั้นเขียนโดยผู้กำกับภาพยนตร์ ปัจฉิมบทแห่งเจได ไรอัน จอห์นสัน ได้รับการประกาศว่าอยู่ในระหว่างการพัฒนา[102][103] ในเดือนเมษายน ค.ศ. 2023 เคนเนดีระบุว่าภาพยนตร์ไตรภาคนี้นั้นยังอยู่ในการพัฒนาในรูปแบบเปิดที่สตูดิโอ พร้อมด้วยนักเขียนบท/ผู้กำกับที่กำลังสร้างเรื่องเล่า แต่กระนั้นภาพยนตร์นี้ยังไม่เป็นสิ่งสำคัญลำดับแรก ๆ ของสตูดิโอ
- ภาพยนตร์ไตรภาคของ เดวิด เบนิออฟ และดี. บี. ไวส์ ที่ยังไม่มีชื่อ: ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2018 มีการประกาศว่า เดวิด เบนิออฟ และดี. บี. ไวส์ จะมาเขียนบทและสร้างภาพยนตร์ไตรภาคใหม่ของ สตาร์ วอร์ส [104] ซึ่งไตรภาคนี้จะดำเนินเรื่องก่อนไตรภาคต้นและเกี่ยวกับต้นกำเนิดของเจได[105] ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2019 ทั้งสองคนได้กล่าวว่าจะเป็นผู้กับกับร่วมกันสำหรับภาพยนตร์เรื่องแรกของไตรภาคนี้[106] แต่กระนั้น ในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน ทั้งสองติดสินใจที่จะออกจากโปรเจ็กต์นี้เนื่องกำหนดการที่ขัดแย้งกับโปรเจ็กต์ที่พวกเขากำลังพัฒนาสำหรับเน็ตฟลิกซ์ เคนเนดีกล่าวว่าสตูดิโอนี้นั้นเปิดโอกาสสำหรับการทำงานและการพัฒนาภาพยนตร์ของพวกเขาในตอนที่กำหนดการของพวกเขานั้นว่างแล้ว[107] ในเดือนมกราคม ค.ศ. 2024 ทั้งสองคนได้ประกาศว่าภาพยนตร์ที่พวกเขากำลังทำอยู่มีชื่อว่า เดอะเฟิสต์เจได และจะดำเนินเรื่องเกี่ยวกับตัวละครเอกที่เก่าแก่และโด่งดัง ทั้งสองคนนั้นลังเลว่าจะกลับไปทำไตรภาคของพวกเขาต่อหรือไม่ โดยกล่าวถึงอิทธิพลที่ภาพยนตร์ของพวกเขามีต่อไตรภาคที่วางแผนไว้ของเจมส์ แมนด์โกลด์ ดอว์นออฟเดอะเจได [108]
- ภาพยนตร์ของ ไทกา ไวทีที ที่ยังไม่มีชื่อ: ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2020 ไทกา ไวทีทีได้ทำสัญญาในโปรเจ็กต์ที่เคยระบุว่าอยู่ในความสำคัญลำดับแรก ๆ ของสตูดิโอ โดยมีไทกา ไวทีทีเป็นผู้กำกับจากบทที่เขาเขียนร่วมกับคริสตี วิลสัน-แคร์นส์[109] ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2020 ภาพยนตร์นี้จะเป็นภาพยนตร์ สตาร์ วอร์ส เรื่องถัดไปที่จะเริ่มการสร้างก่อน โร้ค สควอดรอน โดยเคนเนดีระบุว่าสตูดิโอนั้นกำลังมองช่วงเวลาเปิดตัวไว้ที่ช่วงปลายปี ค.ศ. 2023 แต่ก็ไม่ได้ประกาศวันฉายรอบปฐมทัศน์อย่างเป็นทางการ[110][111] ในเดือนเมษายน ค.ศ. 2023 เธอกล่าวว่าโปรเจ็กต์นี้ยังอยู่ระหว่างการพัฒนา โดยไวทีทียังคงกำลังเขียนบทอยู่ [112]
- โร้ค สควอดรอน: ภาพยนตร์แยก โดยดำเนินเรื่องหลังเหตุการณ์ใน โร้ค วัน กำกับโดยแพตตี เจนคินส์ และเขียนบทโดยแมทธิว รอบินสัน[113] ในเดือนเมษายน ค.ศ. 2023 เคนเนดีระบุว่าบทนั้นยังอยู่ในการพัฒนาและมีความคิดที่จะเปลี่ยนโปรเจ็กต์นี้ให้กลายเป็นละครชุดโทรทัศน์แทน[114] ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2024 เจนคินส์ประกาศว่าเธอได้กลับไปเขียนบทอีกครั้งและยืนยันว่าโปรเจ็กต์นี้กำลังอยู่ในการพัฒนา[115]
- ภาพยนตร์ของ เจ. ดี. ดิลลาร์ด ที่ยังไม่มีชื่อ: ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2020 นั้น ภาพยนตร์นี้ได้รับการประกาศว่ากำลังอยู่ในการพัฒนา โดยผู้กำกับ เจ. ดี. ดิลลาร์ด และนักเขียนบท แมตต์ โอเวนส์[116] ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2020 ดิลลาร์ดได้ประกาศว่าเขาไม่ได้กำกับภาพยนตร์นี้อีกต่อไป[117]
- สตาร์ วอร์ส: อะ ดรอยด์ สตอรี: ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2020 มีการประกาศว่าภาพยนตร์แอนิเมชันที่เกี่ยวกับการผจญภัยของอาร์ทูดีทูและซีทรีพีโอกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนา โดยเรื่องนี้จะแนะนำตัวละครใหม่ให้กับแฟรนไชส์ โดยเป็นตัวละครที่กล้าหาญและมีบทบาทไปพร้อม ๆ กับดรอยด์ทั้งสองตัวที่กลับมาในภาพยนตร์นี้ โปรเจ็กต์นี้จะเป็นการลงทุนสร้างร่วมกันระหว่างลูคัสฟิล์มแอนิเมชันและอินดัสเทรียล ไลท์ แอนด์ แมจิก ภาพยนตร์นี้ถูกพัฒนาเพื่อเปิดตัวผ่านบริการสตรีมมิง โดยผ่านดิสนีย์+ เท่านั้น[118][119][120]
- ภาพยนตร์ของ ชอว์น เลวี ที่ยังไม่มีชื่อ: ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2022 ชอว์น เลวีได้เข้าร่วมการพูดคุยเพื่อกำกับภาพยนตร์ สตาร์ วอร์ส หลังจากผลงานของเขาเรื่อง เดดพูล วูล์ฟเวอรีน (ค.ศ. 2024) และซีซัน 5 ซึ่งเป็นซีซันสุดท้ายของ สเตรนเจอร์ ธิงส์[121]
- แลนโด: ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2020 มีการประกาศละครชุดภาคแยกจาก ฮาน โซโล: ตำนานสตาร์ วอร์ส ว่าอยู่ระหว่างการพัฒนา ละครชุดจำกัดนี้ถูกพัฒนาสำหรับดิสนีย+ โดยเฉพาะ และมีการเปิดเผยว่าจะเกี่ยวกับ แลนโดนิส "แลนโด" คาลิสเซียน ที่ 3 โดยมีชื่อว่า แลนโด ในตอนนั้นมีการยืนยันว่าดอนัลด์ โกลเวอร์จะกลับมารับบทนำ ในขณะที่จัสติน ซีเมียนเป็นผู้ให้กำเนิดและผู้อำนวยการสร้างละครชุดนี้ แต่ทว่าในเดือนกรกฏาคม ค.ศ. 2020 ดอนัลด์และสตีเฟน โกลเวอร์ถูกว่าจ้างให้มาแทนซีเมียน โดยเขียนบทและพัฒนาละครชุดใหม่ตั้งแต่เริ่ม[122] ในเดือนกันยายน ค.ศ. 2023 ละครชุดนี้ได้รับการเปลี่ยนแปลงให้ปล่อยในรูปแบบของภาพยนตร์แทน[123]
โทรทัศน์
[แก้]ชื่อ | จำนวนปี | จำนวนตอน | วันที่เผยแพร่ | เครือข่าย | ||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
แอนิเมชันชุด | ||||||||||||
ดรอยส์ | 1 | 13 | 7 กันยายน ค.ศ. 1985 – 7 มิถุนายน ค.ศ. 1986 | เอบีซี | ||||||||
อีว็อกส์ | 2 | 26 | 7 กันยายน ค.ศ. 1985 – 13 ธันวาคม ค.ศ. 1986 | |||||||||
เดอะ โคลน วอร์ส | 7 | 133 | 3 ตุลาคม ค.ศ. 2008 – 4 พฤษภาคม ค.ศ. 2020 | การ์ตูนเน็ตเวิร์ค / เน็ตฟลิกซ์ / ดิสนีย์+ | ||||||||
เรเบลส์ | 4 | 75 | 3 ตุลาคม ค.ศ. 2014 – 5 มีนาคม ค.ศ. 2018 | ดิสนีย์เอ็กซ์ดี | ||||||||
รีซิสแทนซ์ | 2 | 40 | 7 ตุลาคม ค.ศ. 2018 – 26 มกราคม ค.ศ. 2020 | ดิสนีย์แชนแนล | ||||||||
ทีมโคตรโคลนมหากาฬ | 3 | 47 | 4 พฤษภาคม ค.ศ. 2021 – 1 พฤษภาคม ค.ศ. 2024 | ดิสนีย์+ | ||||||||
วิชันส์ | 2 | 18 | 22 กันยายน ค.ศ. 2021 – ปัจจุบัน | |||||||||
เทลส์ | 2 | 12 | 26 ตุลาคม ค.ศ. 2022 – ปัจจุบัน | |||||||||
เจ้าหนูเจไดตะลุยจักรวาล | 2 | 36 | 4 พฤษภาคม ค.ศ. 2023 – ปัจจุบัน | ดิสนีย์+ / ดิสนีย์จูเนียร์ | ||||||||
แอนิเมชันชุดสั้น | ||||||||||||
สงครามมนุษย์โคลน | 3 | 25 | 7 พฤศจิกายน ค.ศ. 2003 – 25 มีนาคม ค.ศ. 2005 | การ์ตูนเน็ตเวิร์ค | ||||||||
บลิปส์ | 1 | 8 | 3 พฤษภาคม – 4 กันยายน ค.ศ. 2017 | ยูทูบ | ||||||||
ฟอซส์ออฟเดสตินี | 2 | 32 | 3 กรกฎาคม ค.ศ. 2017 – 25 พฤษภาคม ค.ศ. 2018 | |||||||||
กาแลกซีออฟแอดเวนเจอส์ | 2 | 55 | 30 พฤศจิกายน ค.ศ. 2018 – 2 ตุลาคม ค.ศ. 2020 | |||||||||
โรลล์เอาต์ | 1 | 16 | 9 สิงหาคม ค.ศ. 2019 – 1 เมษายน ค.ศ. 2020 | |||||||||
กาแลกซีออฟครีเจอส์ | 2 | 24 | 14 ตุลาคม ค.ศ. 2021 – 21 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2023 | สตาร์วอร์สคิดส์.คอม | ||||||||
กาแลกติกพาลส์ | 1 | 12 | 12 เมษายน – 1 พฤศจิกายน ค.ศ. 2022 | |||||||||
เซน – โกรกูแอนด์ดัสต์บันนีส์ | สั้น | 1 | 12 พฤศจิกายน ค.ศ. 2022 | ดิสนีย์+ | ||||||||
ฟันวิทนับส์ | 1 | 10 | 14 มิถุนายน – 26 กรกฎาคม ค.ศ. 2024 | สตาร์วอร์สคิดส์.คอม | ||||||||
ละครชุดคนแสดง | ||||||||||||
เดอะแมนดาลอเรียน | 3 | 22 | 12 พฤศจิกายน ค.ศ. 2019 – ปัจจุบัน | ดิสนีย์+ | ||||||||
คัมภีร์แห่งโบบ้า เฟตต์ | 1 | 7 | 29 ธันวาคม ค.ศ. 2021 – 9 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2022 | |||||||||
โอบีวัน เคโนบี | 1 | 6 | 27 พฤษภาคม – 22 มิถุนายน ค.ศ. 2022 | |||||||||
แอนดอร์ | 1 | 12 | 21 กันยายน ค.ศ. 2022 – ปัจจุบัน | |||||||||
อาโซกา | 1 | 8 | 22 สิงหาคม ค.ศ. 2023 – ปัจจุบัน | |||||||||
ดิอะโคไลต์ | 1 | 8 | 4 มิถุนายน – 16 กรกฎาคม ค.ศ. 2024 | |||||||||
เกมโชว์ | ||||||||||||
เจไดเทมเพิลชาเลนจ์ | 1 | 10 | 10 มิถุนายน – 5 สิงหาคม ค.ศ. 2020 | สตาร์วอร์สคิดส์.คอม |
รายการแอนิเมชัน
[แก้]รายการแอนิเมชันสองรายการแรก ดรอยส์ และอีว็อกส์ ถูกสร้างขึ้นในทศวรรษ 1980[124] ตามมาด้วยแอนิเมชันชุดสั้น สงครามมนุษย์โคลน ในปี ค.ศ. 2003 และแอนิเมชันชุด เดอะ โคลน วอร์ส ในปี ค.ศ. 2008 หลังจากที่ดิสนียเข้าซื้อกิจการของลูคัสฟิล์ม รายการแอนิเมชันทุกรายการที่สร้างก่อนปี ค.ศ. 2014 โดยยกเว้นแอนิเมชันชุดในปี ค.ศ. 2008 นั้น ถูกนำออกจากเส้นเรื่องหลักของแฟรนไชส์[2] แอนิเมชันชุดที่สร้างขึ้นหลังจากการเข้าซื้อ ประกอบด้วย เรเบลส์ (ค.ศ. 2014), รีซิสแทนซ์ (ค.ศ. 2018) และ ทีมโคตรโคลนมหากาฬ (ค.ศ. 2021)
นอกจากนี้ยังมีการผลิตแอนิเมชันชุดสั้นหลายเรื่องโดยลูคัสฟิล์ม หลังการเข้าซื้อกิจการของดิสนีย์ โดยแอนิเมชันชุดก่อน ๆ นั้นตกอยู่ภายใต้เนื้อหา สตาร์ วอร์ส หมวด "วินเทจ" ของดิสนีย์[125][126]
ละครชุดคนแสดง
[แก้]แฟรนไชส์ สตาร์ วอร์ส นั้นมีละครชุดคนแสดงหลายเรื่อง เรื่องแรกคือ เดอะแมนดาลอเรียน (ค.ศ. 2019) สำหรับบริการสตรีมมิงดิสนีย์+ และดำเนินเรื่องระหว่างไตรภาคเดิมและไตรภาคต่อของมหากาพย์สกายวอล์คเกอร์[127] เนื่องด้วยเรื่องนี้นั้นประสบความสำเร็จจึงมีละครคนแสดงที่เป็นภาคแยกเพิ่มขึ้นมาหลายเรื่อง ประกอบด้วย คัมภีร์แห่งโบบ้า เฟตต์ (ค.ศ. 2021), อาโซกา (ค.ศ. 2023) และเรื่องที่กำลังจะฉาย สเกเลตัน ครูว์[128][129][130] ละครชุดเหล่านี้นั้นดำเนินเรื่องในช่วงสถานการณ์ที่เลวร้ายของสาธารณรัฐใหม่และพันธมิตร ในการต่อสู้กับภาคส่วนที่หลงเหลืออยู่ของจักรวรรดิกาแลกติก[131]
ก่อนหน้านี้ เรื่องราวที่เกี่ยวกับ โอบีวัน เคโนบี ซึ่งเป็นตัวละครจากไตรภาคเดินนั้นได้ถูกวางแผนให้เป็นภาพยนต์ก่อนที่จะกลายเป็นละครชุดคนแสดง หลังจากยอดขายของ ฮาน โซโล ในปี ค.ศ. 2018 นั้นล้มเหลว[93] ลุครชุดนี้ถูกปล่อยตัวบนดิสนีย์+ ในปี ค.ศ. 2022 และดำเนินเรื่องระหว่างภาพยนตร์ไตรภาคต้นและไตรภาคเดิม[132] ตามมาด้วยละครชุดคนแสดง แอนดอร์ ในปีเดียวกัน ซึ่งทั้งสองเรื่องนี้ติดตามตัวละครที่เป็นชื่อเรื่องในระหว่างช่วงเรืองอำนาจของจักรวรรดิ[132][133]
ภาพยนตร์และรายการพิเศษ
[แก้]ชื่อ | วันออกอากาศในสหรัฐ | ผู้กำกับ | ผู้เขียนบท | เนื้อเรื่องโดย | ผู้อำนวยการสร้าง | เครือข่าย |
---|---|---|---|---|---|---|
สตาร์ วอร์ส ฮอลิเดย์สเปเชียล | 17 พฤศจิกายน ค.ศ. 1978 | สตีฟ ไบน์เดอร์ | แพต พรอฟต์, เลนาร์ด ริปส์, บรูซ วิลานจ์, รอด วอร์เรนและมิตซี เวล์จ | โจ เลย์ตัน, เจฟฟ์ สตาช์, เคน เวลห์และมิตซี เวล์จ | ซีบีเอส | |
ดิอีว็อกส์แอดเวนเจอร์ | 25 พฤศจิกายน ค.ศ. 1984 | จอห์น คอร์ตี | บอบ คาร์โร | จอร์จ ลูคัส | ทอมัส จี. สมิธและแพทริเซีย โรส ดึกนาน | เอบีซี |
อีว็อกส์: เดอะแบทเทิลออฟเอนดอร์ | 24 พฤศจิกายน ค.ศ. 1985 | จิม วีตส์และเคน วีต | ทอมัส จี. สมิธและเอียน ไบรซ์ |
ลำดับเหตุการณ์ตามท้องเรื่อง
[แก้]เส้นเรื่องหลักในจักรวาลสมมติของ สตาร์ วอร์ส นั้น มีการดำเนินเรื่องอยู่ในหลายยุค มีสามยุคที่เน้นไปที่เรื่องราวในภาพยนตร์ทั้งสามไตรภาค ยุคต่าง ๆ ของ สตาร์ วอร์ส ได้รับการแบ่งเป็นยุคต่าง ๆ เมื่อเดือนมกราคม ค.ศ. 2021 โดยถูกปรับแต่งเพิ่มและมีการขยายออกมาเป็นยุคดังต่อไปนี้ ในปี ค.ศ. 2023:[134]
- ดอว์นออฟเดอะเจได: เจไดคนแรกได้ครอบครองพลัง โดยจะมีการบรรยายถึงในภาพยนตร์ที่ยังไม่มีชื่อในอนาคต[98][135][136]
- ดิโอลด์รีพับลิก: สาธารณรัฐกาแลกติกถูกก่อตั้งขึ้น และนิกายเจไดได้ถือกำเนิดขึ้นเพื่อคุ้มครองสาธารณรัฐ มีแบ่งพรรคแบ่งพวกกันในเจได นำไปสู่การสร้างนิกายซิธ[136]
- เดอะไฮรีพับลิก: ภายใต้การคุ้มครองของเจได สาธารณรัฐได้เติบโตเข้าสู่ยุคทอง ยุคของ "ไฮรีพับลิก" ดำเนินเรื่องช่วง 200 ปีก่อนเหตุการณ์ในไตรภาคต้น สื่อต่าง ๆ ที่ดำเนินเรื่องในยุคนี้ ได้แก่ ดิ อโคไลท์, เดอะไฮรีพับลิก และแอนิเมชันชุด เจ้าหนูเจไดตะลุยจักรวาล[134]
- การล่มสลายของเจได: ยุคของไตรภาคต้น[h] สาธารณรัฐกาแลกติกถูกทำให้เสื่อมลงโดย สมุหนายกพัลพาทีน (ซึ่งความจริงแล้วเขาคือซิธลอร์ด ดาร์ธ ซิเดียส) ผู้ชักนำให้เกิดสงครามโคลน ระหว่างสาธารณรัฐกับฝ่ายแบ่งแยก (สหภาพพิภพอิสระ) พัลพาทีนทำการรัฐประหาร กำจัดนิกายเจได ทำให้อนาคิน สกายวอล์คเกอร์เข้าสู่ด้านมืด และสถาปนาจักรวรรดิกาแลกติก[138][139] สื่อต่าง ๆ ที่ดำเนินเรื่องในยุคนี้ ได้แก่ ภาพยนตร์ในไตรภาคต้นและแอนิเมชัน เทลส์ออฟเดอะเจได และ เดอะ โคลน วอร์ส[134] ก่อนหน้านี้ ยุคนี้เคยถูกเรียกว่า ยุคแห่งสาธารณรัฐ ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2019[140]
- รัชสมัยของจักรวรรดิ: ยุคระหว่างไตรภาคต้นและไตรภาคเดิม เล่าเรื่องราวช่วงแรกของการขึ้นสู่อำนาจของจักรวรรดิและความโกลาหลที่เกิดขึ้นทั่วกาแล็กซี จักรวรรดิกาแลกติกของพัลพาทีนนั้นปกครองกาแลกซี และตามล่าเจไดที่ยังหลงเหลืออยู่[136] สื่อต่าง ๆ ที่ดำเนินเรื่องในยุคนี้ ได้แก่ ฮาน โซโล: ตำนานสตาร์ วอร์ส, โอบีวัน เคโนบี, แอนดอร์, โร้ค วัน, แอนิเมชัน ทีมโคตรโคลนมหากาฬ และ เรเบลส์ และวีดิโอเกม สตาร์ วอร์ส เจได: ฟอลเลนออเดอร์, สตาร์ วอร์ส เจได: เซอร์ไวเวอร์ และ เวเดอร์อิมมอร์ทัล[134]
- ยุคแห่งการกบฏ: ยุคของไตรภาคเดิม พันธมิตรกบฏต่อสู้กับจักรวรรดิกาแลกติกปกครองกาแลกซี ในสงครามกลางเมืองกาแลกติก ซึ่งกินระยะเวลายาวนานหลายปี สิ้นสุดที่การเสียชีวิตของจักรพรรดิ[141] และส่งผลให้จักรวรรดิล่มสลายในที่สุด[142] ในขณะเดียวกันเจไดได้กลับมาด้วยการปรากฏตัวของลุค สกายวอล์คเกอร์[136][143] สื่อต่าง ๆ ที่ดำเนินเรื่องในยุคนี้ ได้แก่ ภาพยนตร์ไตรภาคเดิม[i] และวีดิโอเกม สตาร์ วอร์ส แบตเทิลฟรอนต์ 2 และ สตาร์ วอร์ส: สควอดรอนส์[136]
- สาธารณรัฐใหม่: ยุคหลังเหตุการณ์ในไตรภาคเดิม ช่วงเริ่มการก่อตั้งสาธารณรัฐกาแลกติกใหม่หลังจักรวรรดิล่มสลาย และพยายามที่จะรวมกาแลกซีให้กลับเป็นหนึ่งเดียว ในขณะที่ถูกคุกคามโดยภาคส่วนที่เหลือของจักรวรรดิ[136] สื่อต่าง ๆ ที่ดำเนินเรื่องในยุคนี้ ได้แก่ เดอะแมนดาลอเรียน, เดอะบุกออฟโบบา เฟตต์, คัมภีร์แห่งโบบ้า เฟตต์ และ อาโซกา[134]
- การขึ้นสู่อำนาจของปฐมภาคี: ยุคของไตรภาคต่อ[j] ภาคส่วนจักรวรรดิกาแลกติกที่ยังหลงเหลืออยู่ได้สถาปนาปฐมภาคีขึ้น[146] อดีตวีรบุรุษฝ่ายกบฏได้รับการช่วยเหลือจากสาธารณรัฐกาแลกติกใหม่ นำขบวนการฝ่ายต่อต้าน ทำการต่อต้านระบอบเผด็จการและผู้นำฝ่ายปฐมภาคีสโน้ค และฉากที่สำคัญที่สุดซึ่งคือการที่เรย์เอาชนะพัลพาทีนที่ฟื้นคืนชีพและนิกายซิธได้สำเร็จ[147] สื่อต่าง ๆ ที่ดำเนินเรื่องในยุคนี้ ได้แก่ ภาคยนตร์ไตรภาคต่อ, แอนิเมชัน สตาร์ วอร์ส รีซิสแทนซ์ และวีดิโอเกม สตาร์ วอร์ส: เทลส์ฟรอมเดอะกาแลกซีส์เอดจ์[134] ก่อนหน้านี้ ยุคนี้เคยถูกเรียกว่า ยุคแห่งการต่อต้าน ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2019[140]
- ภาคีเจไดใหม่: เรย์สร้างนิกายเจไดใหม่ ซึ่งจะถูกบรรยายในภาพยนตร์ในอนาคตที่ยังไม่มีชื่อ
จักรวาลขยายของสื่อแยกอื่น ๆ นั้นแสดงให้เห็นถึงเนื้อเรื่องที่แตกต่างกัน ซึ่งถูกจัดวาสไม่อยู่เส้นเรื่องหลัก และได้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น เลเจนส์ ในวันที่ 25 เมษายน ค.ศ. 2014 เพื่อให้งานต่อ ๆ ไปในภายภาคหน้านั้นสัมพันธ์กับภาพยนตร์ในมหากาพย์ ภาพยนตร์ สงครามโคลน และละครชุดโทรทัศน์ เดอะ โคลน วอร์ส[2]
ในสื่ออื่น
[แก้]ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1976 ถึง 2014 คำว่า จักรวาลขยาย (Expanded Universe หรือ EU) หมายถึง สื่อต่าง ๆ ของ สตาร์ วอร์ส ที่มีลิขสิทธิ์อย่างเป็นทางการทั้งหมด ที่มีเรื่องราวนอกเหนือจากเหตุการณ์ในภาพยนตร์ รวมไปถึงนวนิยาย, การ์ตูนและวิดีโอเกมส์[148] ลูคัสฟิล์มดูแลความต่อเนื่องภายในระหว่างภาพยนตร์, เนื้อหาโทรทัศน์และจักรวาลขยายจนกระทั่งในวันที่ 25 เมษายน ค.ศ. 2014 เมื่อบริษัทประกาศว่างานของจักรวาลขยายทั้งหมดจะหยุดการผลิต ผลงานที่มีอยู่จะไม่นับว่าเป็นเส้นเรื่องหลักของแฟรนไชส์ และจะทำการเปลี่ยนแบรนด์ใหม่ภายใต้ชื่อว่า ตำนานสตาร์ วอร์ส (Star Wars Legends)[148] เนื้อหาดาวน์โหลดของเกม ดิโอลด์รีพับลิค เป็น ตำนาน หนึ่งเดียวที่ยังมีการผลิตอยู่ เส้นเรื่องหลักของ สตาร์ วอร์ส ภายหลังมีการปรับโครงสร้างให้รวมแค่ภาพยนตร์หกเรื่อง, ภาพยนตร์แอนิเมชัน สงครามโคลน (2008) และแอนิเมชันชุด เดอะ โคลน วอร์ส โครงการในอนาคตและการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ในสื่อทุกรูปแบบจะถูกดูแลและประสานงานโดยกลุ่มเนื้อเรื่องของลูคัสฟิล์ม เพื่อดูแลความต่อเนื่องและให้มีวิสัยทัศน์เดียวกันในการเล่าเรื่องของแฟรนไชส์[2] การ์ตูนหลายเรื่องจาก มาร์เวล และนวนิยายที่จัดจำหน่ายโดย เดลเรย์ ถูกผลิตหลังการประกาศนี้
สื่อสิ่งพิมพ์
[แก้]มีสื่อสิ่งพิมพ์ที่วางจำหน่ายก่อนภาพยนตร์เรื่องแรกฉาย ซึ่งเป็นนวนิยายที่ดัดแปลงจากภาพยนตร์ สตาร์ วอร์ส โดยมีชื่อ สตาร์ วอร์ส: ฟรอมดิแอดเวนเจอส์ออฟลุค สกายวอร์คเกอร์ วางจำหน่ายเมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ. 1976 ถึงแม้ว่าบนปกหนังสือจะระบุไว้ว่า จอร์จ ลูคัส เป็นผู้เขียน แต่ว่านวนิยายนั้นเขียนโดยนักเขียนเงา อลัน ดีน ฟอสเตอร์[149] เรื่องราว จักรวาลขยาย เรื่องแรกปรากฏในหนังสือการ์ตูน สตาร์ วอร์ส ฉบับที่ 7 ของมาร์เวลคอมิกส์ เมื่อเดือนมกราคม ค.ศ. 1978 (หกฉบับแรกนั้นเป็นการดัดแปลงจากภาพยนตร์) ตามด้วย สปลินเตอร์ออฟเดอะมายส์อาย (Splinter of the Mind's Eye) นวนิยายภาคต่อของฟอสเตอร์ในเดือนต่อมา
นวนิยาย
[แก้]หลังจากฟอสเตอร์เขียนนวนิยายที่ดัดแปลงจากภาพยนตร์ต้นฉบับแล้ว เขาก็เขียนนวนิยายเล่มต่อมาชื่อว่า สปลินเตอร์ออฟเดอะมายส์อาย (1978) ต่อมานวนิยายที่ดัดแปลงจากภาพยนตร์ จักรวรรดิเอมไพร์โต้กลับ (1980) เชียนโดย โดนัลด์ เอฟ. กลัต และ การกลับมาของเจได (1983) เขียนโดย เจมส์ คาห์น ยังมี เดอะฮาน โซโลแอดเวนเจอร์ส ไตรภาค (1979–1980) เขียนโดย ไบรอัน ดาเลย์[150] และ ดิแอดเวนเจอร์สออฟแลนโด คาลริสเซียน ไตรภาค (1983) เขียนโดย แอล. นีล สมิธ[151][152]
นวนิยาย ธรอว์น ไตรภาค (1991–1993) เป็นนวนิยายที่ขายดีที่สุดของ ทิโมธี ซาห์น จุดประกายความสนใจต่อแฟรนไชส์ขึ้นมาใหม่และแนะนำตัวละครซึ่งเป็นที่นิยมในเวลาต่อมา ได้แก่ พลเรือเอกธรอว์น, มารา เจด, ทาลอน คาร์เริด และ กิเลิด แพลิออน[153][154][155][156] นวนิยายเล่มแรก แอร์ทูดิเอมไพร์ ติดอันดับที่หนึ่งในรายชื่อหนังสือขายดีที่สุดของ เดอะนิวยอร์กไทมส์[157] ในนวนิยายชุดนี้ ลุค, เลอาและฮานเผชิญหน้ากับธรอว์น นักยุทธวิธีอัจฉริยะ ซึ่งวางแผนที่จะทวงคืนกาแลคซีให้กับจักรวรรดิอีกครั้ง[158] ใน เดอะคอร์ตชิพออฟพรินเซสเลอา (1994) เขียนโดย เดฟ วูลเวอร์ตัน ดำเนินเรื่องก่อน ธรอว์น ไตรภาค ทันที เล่าเรื่องเลอาตัดสินใจใช้ความได้เปรียบจากการแต่งงานทางการเมืองกับเจ้าชายไอโซลเดอร์จากดาวเฮปส์ แต่สุดท้ายเธอก็แต่งงานกับฮาน[159][160] ชาโดว์ออฟดิเอมไพร์ (1996) เขียนโดย สตีฟ เพอร์รี ดำเนินเรื่องระหว่าง จักรวรรดิเอมไพร์โต้กลับ และ การกลับมาของเจได เคยเป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญมัลติมีเดียที่มีทั้งหนังสือการ์ตูนและวิดีโอเกมส์[161][162] นวนิยายแนะนำตัวละครเจ้าพ่ออาชญากรรม เจ้าชายซีเซอร์ ซึ่งเป็นตัวละครที่นิยมอีกตัวหนึ่งที่ไปปรากฏตัวในผลงานอื่น[161][163] ผลงานอื่นที่โดดเด่นจากสำนักพิมพ์แบนตัม ได้แก่ เจไดอคาเดมี ไตรภาค (1994) โดย เควิน เจ. แอนเดอร์สัน[164][165] หนังสือชุด ยังเจไดไนท์ส (1995–1998) จำนวน 14 เล่ม โดย แอนเดอร์สันและรีเบกกา โมเอสตา[165][166] และ เอ็กซ์-วิง (1996–2012) โดย ไมเคิล เอ. สแตกโพล์และแอรอน ออลสตัน[167][168][169]
เดลเรย์ รับช่วงการจัดจำหน่ายหนังสือ สตาร์ วอร์ส เมื่อปี ค.ศ. 1999 โดยวางจำหน่ายนวนิยายชุด เดอะนิวเจไดออร์เดอร์ (1999–2003) จำนวน 19 เล่ม เขียนโดยนักเขียนหลายคน ดำเนินเรื่องหลังภาพยนตร์ต้นฉบับ 25 ถึง 30 ปีและแนะนำยูซาน วอง เผ่าเอเลี่ยนที่ทรงพลังซึ่งพยายามบุกและพิชิตจักรวาลทั้งหมด[170][171] นวนิยายขายดีชุด เลกาซีออฟเดอะฟอร์ซ (2006–2008) ซึ่งเขียนโดยนักเขียนหลายคน บันทึกเหตุการณ์ของ จาเซน โซโล ลูกชายของฮานกับเลอา ได้เข้าสู่ด้านมืดของพลัง ท่ามกลางการกระทำที่ชั่วร้ายของเขา เขาได้ฆ่า มารา เจด ภรรยาของลุค เป็นการสังเวยเพื่อเข้าร่วมกับฝ่ายซิธ ถึงแม้เนื้อเรื่องนี้จะไม่เป็นเส้นเรื่องหลักแล้ว แต่เนื้อเรื่องก็คล้ายกับใน อุบัติการณ์แห่งพลัง ซึ่ง เบน โซโล ลูกชายของฮานกับเลอา เข้าสู่ด้านมืดกลายเป็นไคโล เร็น[172][173][174][175]
มีนวนิยายสามชุดที่ดำเนินเรื่องในช่วงไตรภาคต้น ซึ่งเป็นนวนิยายสำหรับนักอ่านวัยเยาว์ ได้แก่ เจไดอะเพรนทิส (1999–2002) บันทึกการผจญภัยของ โอบีวัน เคโนบี และอาจารย์ของเขา ไควกอน จินน์ หลายปีก่อนเหตุการณ์ใน ภัยซ่อนเร้น จำนวน 18 เล่ม เจไดเควสต์ (2001–2004) บันทึกการผจญภัยของโอบีวันและศิษย์ของเขา อนาคิน สกายวอล์คเกอร์ ช่วงระหว่าง ภัยซ่อนเร้น และ กองทัพโคลนส์จู่โจม จำนวน 11 เล่ม และ เดอะลาสต์ออฟเดอะเจได (2005–2008) ดำเนินเรื่องหลัง ซิธชำระแค้น ทันที บันทึกเรื่องราวของโอบีวันกับเหล่าเจไดไม่กี่คนที่รอดชีวิต
ถึงแม้ว่าตัวละครธรอว์นจะถูกให้เป็นตัวละคร ลีเจนด์ส เมื่อปี ค.ศ. 2014 ธรอว์นได้ปรากฏตัวในเส้นเรื่องหลักครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 2016 ในปีที่สามของ เรเบลส์ ทำให้ ทิโมธี ซาห์น กลับมาเขียนนวนิยายเกี่ยวกับตัวละครนี้และให้ดำเนินเรื่องอยู่ในเส้นเรื่องหลัก[176][177]
หนังสือการ์ตูน
[แก้]มาร์เวลคอมิกส์จัดจำหน่ายหนังสือการ์ตูนชุด สตาร์ วอร์ส ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1977 ถึง 1986[178][179][180][181] การ์ตูน สตาร์ วอร์ส ดั้งเดิมถูกตีพิมพ์ลงในนิตยสาร พิซซาซซ์ ของมาร์เวลระหว่างปี ค.ศ. 1977 ถึง 1979 โดยเป็นการ์ตูน สตาร์ วอร์ส เรื่องแรกที่เนื้อเรื่องไม่ได้ดัดแปลงมาจากภาพยนตร์โดยตรง ซึ่งเป็นการ์ตูนที่ทำก่อนหนังสือการ์ตูนชุด สตาร์ วอร์ส ข้างต้น[182] สตาร์คอมิกส์ สำนักพิมพ์ในเครือมาร์เวล ได้ตีพิมพ์การ์ตูนชุดจากแอนิเมชันชุดสำหรับเด็ก อีว็อกส์ และ ดรอยส์ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1985–1987[183][184][185] จิม ชูสเตอร์ อดีตหัวหน้ากองบรรณาธิการของมาร์เวลคอมิกส์ กล่าวว่า ยอดจำหน่ายที่แข็งแกร่งของการ์ตูน สตาร์ วอร์ส ช่วยเหลือด้านการเงินของมาร์เวลในปี ค.ศ. 1977 และ 1978[186] หนังสือการ์ตูนชุด สตาร์ วอร์ส ของมาร์เวลเป็นหนึ่งในหนังสือการ์ตูนที่ขายดีที่สุดในปี ค.ศ. 1979 และ 1980[187] ในช่วงแรกนั้นมาร์เวลจะไม่จ่ายค่าส่วนแบ่งให้กับลูคัสฟิล์มถ้าหากยอดจำหน่ายไม่ถึง 100,000 เล่ม แต่ทว่ายอดจำหน่ายกลับทำได้เกิน 100,000 เล่มอย่างรวดเร็ว ทำให้ ชาร์ลส์ ลิปปินคอตต์ หัวหน้างานประชาสัมพันธ์ของลูคัสฟิล์ม ทำการเจรจาค่าส่วนแบ่งใหม่จากตำแหน่งที่แข็งแกร่งกว่า[188]
ในช่วงปลายทศวรรษ 1980 มาร์เวลได้ยกเลิกการ์ตูน สตาร์ วอร์ส ใหม่ซึ่งกำลังพัฒนาอยู่ ดาร์กฮอร์สคอมิกส์ได้รับช่วงต่อและจัดจำหน่ายในชื่อชุด ดาร์กเอมไพร์ (1991–1995) ซึ่งกลายเป็นที่นิยม[189] ต่อดาร์กฮอร์สได้ปล่อยหนังสือการ์ตูนชุดจำนวนหนึ่งซึ่งดำเนินเรื่องหลังเหตุการณ์ในไตรภาคภาพยนตร์ต้นฉบับ ได้แก่ เทลส์ออฟเดอะเจได (1993–1998), เอ็กซ์-วิงโรกสควอดรอน (1995–1998), สตาร์ วอร์ส: รีพับลิค (1998–2006), สตาร์ วอร์ส เทลส์ (1999–2005), สตาร์ วอร์ส: เอมไพร์ (2002–2006) และ ไนทส์ออฟดิโอลด์รีพับลิค (2006–2010)[190][191]
หลังจากดีสนีย์ซื้อลูคัสฟิล์ม มีการประกาศเมื่อเดือนมกราคม ค.ศ. 2014 ว่าลิขสิทธิ์การ์ตูน สตาร์ วอร์ส จะกลับคืนสู่มาร์เวลคอมิกส์ในปี ค.ศ. 2015[192] เพราะบริษัทแม่ มาร์เวลเอ็นเทอร์เทนเมนต์ ถูกดีสนีย์ซื้อไปเมื่อปี ค.ศ. 2009[193] หนังสือการ์ตูนสามชุดแรกได้ปล่อยเมื่อปี ค.ศ. 2015 ได้แก่ สตาร์ วอร์ส, ดาร์ธ เวเดอร์ และ พรินเซส เลอา[194][195][196]
ในงาน สตาร์ วอร์ส เซเลเบรชัน เมื่อเดือนเมษายน ค.ศ. 2019 มีการประกาศ โครงการลูมินัส ขึ้น ซึ่งต่อมามีการเปิดเผยชื่อและรายละเอียดทั้งหมดในงานแถลงข่าวเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2020 โดยมีชื่อว่า สตาร์ วอร์ส: เดอะไฮรีพับลิค ในยุคใหม่นี้จะดำเนินเรื่องในช่วง 200 ปีก่อนมหากาพย์สกายวอล์คเกอร์ ซึ่งจะปรากฏอยู่ในหนังสือและการ์ตูน จากสำนักพิมพ์ที่ได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการในปัจจุบัน รวมไปถึง หนังสือการ์ตูนโดยมาร์เวลและไอดีดับเบิลยูพับลิชิง เขียนโดย คาเวน สก็อตต์ และ เดเนียล โฮเซ โอลเดอร์ ตามลำดับ โดยจะเปิดตัวในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2020[197]
เสียง
[แก้]เพลงประกอบและซิงเกิล
[แก้]จอห์น วิลเลียมส์ ประพันธ์เพลงประกอบภาพยนตร์ในมหากาพย์สกายวอล์คเกอร์ทั้งหมดเก้าเรื่อง เขากล่าวเขาจะเกษียณจากแฟรนไชส์หลัง กำเนิดใหม่สกายวอล์คเกอร์ ฉายแล้ว[198] เขาได้ประพันธ์เพลงธีม "ดิแอดเวนเจอร์สออฟฮาน" ให้ภาพยนตร์ ฮาน โซโล: ตำนานสตาร์ วอร์ส โดยที่ จอห์น พาวเวล เป็นคนประพันธ์เพลงประกอบภาพยนตร์ที่เหลือ[199] ไมเคิล จิอาคคิโน ประพันธ์เพลงประกอบภาพยนตร์ให้กับ โร้ค วัน: ตำนานสตาร์ วอร์ส[199]
นวนิยายเสียง
[แก้]ผลงานแรกในรูปแบบเสียงของ สตาร์ วอร์ส คือ เดอะสตอรีออฟสตาร์ วอร์ส เป็น แผ่นเสียงซึ่งใช้เสียงจากภาพยนตร์ต้นฉบับ แล้วใส่การบรรยายใหม่เพื่อเล่าเรื่อง วางจำหน่ายเมื่อปี ค.ศ. 1977 ต่อมานวนิยายที่เป็นรูปเล่มส่วนใหญ่ถูกดัดแปลงเป็นนวนิยายเสียง มักจะวางจำหน่ายในรูปแบบตลับเทปและวางจำหน่ายใหม่ในรูปแบบแผ่นซีดี นวนิยายเสียงปัจจุบันวางจำหน่ายโดยไม่ได้ดัดแปลงมาจากสื่อสิ่งพิมพ์ใด ๆ
วิทยุ
[แก้]ลูคัสในช่วงที่เขากำลังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย เขาเป็นแฟนของสถานีวิทยุของมหาวิทยาลัยซึ่งอยู่ในเครือวิทยุสาธารณะแห่งชาติ เขาอนุญาตให้สิทธิ์ในการดัดแปลงภาพยนตร์เป็นละครวิทยุแก่ เคยูเอสซี-เอฟเอ็ม โดยคิดค่าธรรมเนียมเพียง 1 ดอลลาร์สหรัฐ การสร้างนั้นได้มีการใช้เพลงประกอบภาพยนตร์โดย จอห์น วิลเลียมส์ พร้อมกับเสียงประกอบโดย เบน เบิร์ต[200][201]
เรื่องแรกนั้นเขียนบทโดยนักเขียนบันเทิงคดีแนววิทยาศาสตร์ ไบรอัน ดาเลย์ และกำกับโดย จอห์น เมดเดน ออกอากาศทางวิทยุสาธารณะแห่งชาติเมื่อปี ค.ศ. 1981 ดัดแปลงจากภาพยนตร์ต้นฉบับเป็นละครวิทยุจำนวน 13 ตอน[202][200][201] มาร์ค ฮามิลล์ และ แอนโธนี เดเนียลส์ กลับมารับบทเดิมจากภาพยนตร์[202][200]
ความสำเร็จที่ท่วมท้น ทำให้มีการดัดแปลงภาพยนตร์ จักรวรรดิเอมไพร์โต้กลับ เป็นละครวิทยุจำนวน 10 ตอน ออกอากาศครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1983[203] บิลลี ดี วิลเลียมส์ รับบทเดิมเป็นแลนโด คาลริสเซียน ร่วมกับนักแสดงอีกสองคน[204]
บัวนาวิสตาเรคอร์ดส ได้วางจำหน่ายละครวิทยุ สตาร์ วอร์ส ต้นฉบับความยาว 30 นาที ชื่อว่า เรเบลมิสชันทูออร์ดแมนเทลล์ เมื่อปี ค.ศ. 1983 เขียนบทโดย ดาเลย์[201][205] ในทศวรรษ 1990 ไทม์วอร์เนอร์ออดิโอพับบลิชิง ได้ดัดแปลงหนังสือการ์ตูน สตาร์ วอร์ส เป็นละครวิทยุ ได้แก่ มหากาพย์ ดาร์กเอมไพร์ สามภาค, เทลส์ออฟเดอะเจได, ดาร์กลอร์ดสออฟเดอะซิธ, ดาร์กฟอซเซส ไตรภาค และ คริมสันเอมไพร์ (1998)[205] การกลับมาของเจได ถูกดัดแปลงเป็นละครวิทยุจำนวน 6 ตอน มีแอนโธนี เดเนียลส์กลับมารับบทเดิม[200][205]
วิดีโอเกม
[แก้]แฟรนไชส์ สตาร์ วอร์ส มีการพัฒนาเกมในรูปแบบต่าง ๆ เช่น เกมคอมพิวเตอร์, วิดีโอเกมและเกมกระดาน รวมกันมากกว่า 100 เกม[206] โดยย้อนกลับไปในเครื่องเล่นวิดีโอเกมยุคแรก ๆ บางเกมนำเค้าโครงมาจากภาพยนตร์โดยตรง บางเกมมีเนื้อเรื่องที่อยู่ในจักรวาลขยาย (ซึ่งถูกเปลี่ยนชื่อเป็น สตาร์ วอร์ส ลีเจนด์ส และไม่นับเป็นเส้นเรื่องหลักเมื่อปี ค.ศ. 2014) เกม สตาร์ วอร์ส ได้ผ่านการพัฒนาที่สำคัญอยู่สามยุค โดยนับจากการเปลี่ยนตัวผู้พัฒนา ได้แก่ ยุคที่ให้ลิขสิทธิ์ในการพัฒนาเกมแก่บริษัทอื่น, ยุคที่เกมถูกพัฒนาและจัดจำหน่ายโดยลูคัสอาร์ตส และยุคที่ดิสนีย์สั่งให้ลูคัสอาร์ตสหยุดพัฒนาเกม แล้วโอนลิขสิทธิ์ในการพัฒนาเกมให้แก่อิเล็กทรอนิก อาตส์
เกมลิขสิทธิ์ยุคแรก (1979–1993)
[แก้]ในยุคแรกของเกมลิขสิทธิ์ สตาร์ วอร์ส อย่างเป็นทางการนั้น เริ่มต้นด้วยเกมอิเล็กทรอนิกส์ตั้งโต๊ะ ผลิตโดยเคนเนอร์ เมื่อปี ค.ศ. 1979 ชื่อว่า สตาร์ วอร์ส อิเล็กทรอนิกส์แบทเทิลคอมมานด์[207][208] ในปี ค.ศ. 1982 พาร์กเกอร์บราเธอส์ จัดจำหน่ายเกม สตาร์ วอร์ส เกมแรกสำหรับเครื่อง อาตาริ 2600 ชื่อว่า สตาร์ วอร์ส: ดิเอมไพร์สไตรค์สแบ็ก[209] ตามมาด้วย สตาร์ วอร์ส: เจได้อารีนา ในปีต่อมา โดยเป็นเกมแรกที่มีการดวลดาบไลต์เซเบอร์ และ เกม สตาร์ วอร์ส เป็นเกมตู้แนวเรลชูเตอร์ของอาตาริ ซึ่งมีภาพกราฟิกส์เวกเตอร์เพื่อจำลองฉากวิ่งร่องลึกในดาวมรณะจากภาพยนตร์ต้นฉบับ[210] เกมต่อมา เดอะรีเทิร์นออฟเดอะเจได (1984) แสดงภาพกราฟิกส์แบบแรสเตอร์[211] สตาร์ วอร์ส: ดิเอมไพร์สไตรค์สแบ็ก (1985) แสดงภาพกราฟิกส์เป็นแบบเวกเตอร์[212] สตาร์ วอร์ส ในปี ค.ศ. 1987, สตาร์ วอร์ส อีกเกมหนึ่งในปี ค.ศ. 1991 และ สตาร์ วอร์ส: ดิเอมไพร์สไตรค์สแบ็ก ในปี ค.ศ. 1992 เป็นเกมแพลตฟอร์ม สำหรับเครื่องแฟมิคอม แต่ว่าเกมแรกนั้นไม่เคยวางจำหน่ายนอกประเทศญี่ปุ่นเลย ซูเปอร์สตาร์ วอร์ส วางจำหน่ายในปี ค.ศ. 1992 เป็นเกมแพลตฟอร์ม สำหรับเครื่องซูเปอร์แฟมิคอม พร้อมสองภาคต่อในสองปีถัดมา
ยุคลูคัสอาร์ตสจัดจำหน่ายเกมด้วยตัวเอง (1993–2014)
[แก้]จุดเริ่มต้นของยุคที่สองนั้นเริ่มที่การจัดจำหน่ายด้วยตัวเองของลูคัสอาร์ตส ลูคัสอาร์ตสถูกก่อตั้งหลัง จอร์จ ลูคัส สนใจในความสำเร็จที่เพิ่มขึ้นของตลาดวิดีโอเกม โดยต้องการควบคุมความคิดสร้างสรรค์และการเล่าเรื่องในเกมมากขึ้น ในยุคนี้ กราฟิกวิดีโอเกมมีการพัฒนามากขึ้นทำให้เกมสามารถเล่าเรื่องราวที่ซับซ้อนได้และสามารถเล่าเรื่องใหม่จากภาพยนตร์ และในที่สุดก็มีเนื้อเรื่องที่เป็นต้นฉบับ ซึ่งดำเนินเรื่องอยู่ในเส้นเรื่องเดียวกันภาพยนตร์ แสดงด้วยการพากย์เสียงและซีจีไอคัตซีน ลูคัสฟิล์มก่อตั้งบริษัทเกมของตัวเองเมื่อปี ค.ศ. 1982 เป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดีด้วยเกมผจญภัยและเกมขับเครื่องบินต่อสู้ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ลูคัสอาร์ตสได้ปล่อยเกม สตาร์ วอร์ส: เอกซ์-วิง เมื่อปี ค.ศ. 1993 เป็นเกม สตาร์ วอร์ส เกมแรกที่จัดจำหน่ายด้วยตัวเอง และเป็นเกมจำลองการบินในอวกาศเกมแรกของแฟรนไชส์[213] เป็นหนึ่งในเกมที่ขายดีที่สุดในปี ค.ศ. 1993 ซึ่งต่อมาก็มีภาคต่อและกลายเป็นวิดีโอเกมชุด[213] วิดีโอเกมชุด โรกสควอดอน วางจำหน่ายระหว่างปี ค.ศ. 1998 ถึง 2003 โดยเน้นไปที่การต่อสู้ในอวกาศระหว่างภาพยนตร์
ดาร์กฟอร์เซส (1995) เป็นเกมแนวผสมระหว่างเกมผจญภัย, เกมปริศนาและเกมวางแผน[214] และยังเป็น สตาร์ วอร์ส เกมแรกที่เป็น เกมยิงมุมมองบุคคลที่หนึ่ง[215] โดยเกมดังกล่าวมีระบบการเล่นและกราฟิกที่ไม่เหมือนกับเกมอื่น เพราะเกมถูกสร้างโดยใช้เกมเอนจินของลูคัสอาร์ตสเอง ชื่อว่า เจได[215][214][216][217] เกมได้รับการตอบรับที่ดี[218][219][220] และมีภาคต่อตามมาอีกสี่ภาค[221][222] วิดีโอเกมชุดนี้ได้แนะนำ ไคล์ คาทาร์น เป็นตัวละครที่ปรากฏตัวในหลากหลายเกม, นวนิยายและการ์ตูน[223] คาทาร์น อดีตสตอร์มทรูปเปอร์ ซึ่งเข้าร่วมกับฝ่ายกบฏและได้กลายเป็นเจได[215][224][225] ซึ่งมีเรื่องราวคล้ายกับ ฟินน์ ในภาพยนตร์ไตรภาคต่อ[172] สตาร์ วอร์ส กาแลกซีส์ เป็นเกมสวมบทบาทออนไลน์ผู้เล่นหลายคนจำนวนมาก ให้บริการช่วงปี ค.ศ. 2003 ถึง 2011 หลังเดอะวอลต์ดิสนีย์ซื้อลูคัสฟิล์มเมื่อปี ค.ศ. 2012 วิดีโอเกมที่พัฒนาในสองยุคแรกนั้น ถูกตัดออกจากเส้นเรื่องหลักเมื่อปี ค.ศ. 2014 และให้เป็น สตาร์ วอร์ส ลีเจนด์ส ลูคัสอาร์ตสหยุดการเป็นผู้พัฒนาเมื่อปี ค.ศ. 2013 แต่ยังให้ทำงานเป็นผู้ออกใบอนุญาต[226]
อีเอ สตาร์ วอร์ส (2014–ปัจจุบัน)
[แก้]ยุคที่สามเริ่มต้นหลังจากดีสนีย์ซื้อกิจการลูคัสฟิล์มแล้ว ลูคัสอาร์ตสหยุดการเป็นผู้พัฒนาและสิทธิ์ในการพัฒนาวิดีโอเกมถูกโอนให้กับอิเล็กทรอนิก อาตส์ เกมที่พัฒนาในยุคนี้จะถือว่าอยู่ในเส้นเรื่องหลัก ได้รับอิทธิพลมากขึ้นจากผู้สร้างภาพยนตร์ สตาร์ วอร์ส ดีสนีย์ร่วมมือกับเลอโนโว สร้างวิดีโอเกมความเป็นจริงเสริม ชื่อว่า เจไดชาเลนจ์ส วางจำหน่ายเมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2017[227][228] เมื่อเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2018 ซิงกา ประกาศจัดจำหน่ายเกมมือถือเล่นฟรี สตาร์ วอร์ส[229] เกม แบทเทิลฟรอนต์ ได้รับการรีบูตให้เข้าเส้นเรื่องหลักเมื่อปี ค.ศ. 2017 เจได: ฟอลเลนออร์เดอร์ วางจำหน่ายเมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2019 และ สตาร์ วอร์ส: สควอดรอนส์ วางจำหน่ายเมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 2020
สวนสนุก
[แก้]นอกจากเครื่องเล่น สตาร์ทัวร์ส (1987) และ สตาร์ทัวร์ส: ดิแอดเวนเจอร์สคอนตินิว (2011) ในดิสนีย์แลนด์แล้ว ยังมีเครื่องเล่นและนิทรรศการที่จัดแสดงในสวนสนุกในเครือดิสนีย์พาร์ก ได้แก่ นิทรรศการเคลื่อนที่ แวร์ไซแอนซ์มีตส์อิมแมจิเนชัน, รถไฟเหาะตีลังกา ไฮเปอร์สเปซเมาต์เทน, พิพิธภัณฑ์ ลอนช์เบย์ และการแสดงตอนกลางคืน อะกาแลกติกสเปกสะเพคแทกคิวลา พื้นที่สวนสนุกขนาดใหญ่เรียกว่า กาแลกซีส์เอจ (2019) เปิดให้บริการที่ ดิสนีย์แลนด์ และที่ วอลต์ดิสนีย์เวิลด์ เมื่อกลางปี ค.ศ. 2019[230] โรงแรม สตาร์ วอร์ส: กาแลกติกสตาร์ครูเซอร์ กำลังก่อสร้างที่วอลต์ดิสนีย์เวิลด์[231]
โครงการสื่อประสม
[แก้]มีโครงการสื่อประสมที่เผยแพร่ในสื่อหลากหลายประเภท ชาโดว์ออฟดิเอมไพร์ (1996) เคยเป็นโครงการสื่อประสมที่ดำเนินเรื่องระหว่าง จักรวรรดิเอมไพร์โต้กลับ และ การกลับมาของเจได ประกอบด้วยนวนิยายเขียนโดย สตีฟ เพอร์รี, หนังสือการ์ตูนชุด, วิดีโอเกมและหุ่นฟิกเกอร์[161][162] เดอะฟอร์ซอันลีชด์ (2008–2010) เคยเป็นโครงการที่คล้ายกัน ดำเนินเรื่องระหว่าง ซิธชำระแค้น และ ความหวังใหม่ ประกอบด้วยนวนิยาย, วิดีโอเกมเมื่อปี ค.ศ. 2008, วิดีโอเกมภาคต่อเมื่อปี ค.ศ. 2010, นวนิยายภาพ, อุปกรณ์เสริมเกมสวมบทบาทและของเล่น[232][233]
แก่นเรื่อง
[แก้]สตาร์ วอร์ส มีองค์ประกอบต่าง ๆ ได้แก่ กลุ่มอัศวิน, ระบบอัศวิน และ แม่แบบยุงเกียน เช่น "เงา"[234] นอกจากนี้ยังมีการอ้างอิงถึงศาสนาคริสต์จำนวนมาก เช่น การปรากฏตัวของ ดาร์ธ มอล ซึ่งเป็นตัวละครที่ได้รับการออกแบบจากภาพลักษณ์ของปีศาจในศาสนาคริสต์[235] อนาคินกำเนิดขึ้นมาจากการเกิดบริสุทธิ์ และสันนิษฐานว่าเป็น "ผู้ที่ถูกเลือก" คล้ายกับ เมสสิยาห์ อย่างไรก็ตาม อนาคินไม่เหมือนกับพระเยซู โดยอนาคินได้เข้าสู่ด้านมืดกลายเป็น ดาร์ธ เวเดอร์ ผู้ชั่วร้าย จนถึงในภาพยนตร์ การกลับมาของเจได แอดัม ไดรเวอร์ กล่าวว่า ไคโล เร็น ตัวร้ายในไตรภาคต่อซึ่งยกย่องเวเดอร์ เชื่อว่าเขา "ทำในสิ่งที่เขาคิดว่าถูกต้อง"[236] จอร์จ ลูคัส กล่าวว่าแก่นเรื่องของมหากาพย์นี้คือการไถ่บาป[237]
มหากาพย์เล่าเรื่องในรูปแบบของ การเดินทางของวีรบุรุษ เป็นแม่แบบที่พัฒนาโดย โจเซฟ แคมป์เบิลล์ นักปรัมปราวิทยาเปรียบเทียบ[235] ตัวละครหลักแต่ละตัว—อนาคิน, ลุคและเรย์—เดินตามขั้นตอนของวงจรหรือเดินย้อนกลับทำให้กลายเป็นตัวร้าย[238] ขั้นตอนที่เห็นได้ชัดคือ "การไถ่โทษกับบิดา"[239] การสูญเสียผู้เป็นเสมือนกับบิดาของโอบีวัน อาจมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างเขากับอนาคิน[240] ซึ่งทั้งโอบีวันและพัลพาทีนต่างก็เปรียบเสมือนบิดาและผู้ชี้แนะของอนาคินเช่นกัน[241] การค้นพบของลุคว่าเวเดอร์เป็นบิดาของเขา สร้างผลกระทบอย่างรุนแรงต่อมหากาพย์และเป็นหนึ่งในการหักมุมที่มีอิทธิพลมากที่สุดต่อวงการภาพยนตร์[242] ผู้นำสูงสุดสโน้ค ยุยงให้ไคโล เร็น สังหาร ฮาน โซโล บิดาของเขา[236] ไคโลใช้ความจริงที่เรย์เป็นเด็กกำพร้านั้นยั่วยุให้เธอเข้าสู่ด้านมืด[243] บทความในเว็บไซต์ อินเวิร์ส กล่าวว่า ในฉากสุดท้ายของ ปัจฉิมบทแห่งเจได แสดงเหล่าเด็กรับใช้กำลังเล่นของเล่นซึ่งเป็นตัวลุคและเด็กคนหนึ่งใช้พลังดึงไม้กวาด เป็นสัญลักษณ์ว่า "พลังสามารถพบได้ในคนที่มีจุดเริ่มต้นต่ำต้อย"[244]
อิทธิพลทางประวัติศาสตร์
[แก้]รัฐศาสตร์ เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของ สตาร์ วอร์ส ตั้งแต่เปิดตัวแฟรนไชส์เมื่อปี ค.ศ. 1977 โดยเน้นไปที่การต่อสู้ระหว่าง ระบอบประชาธิปไตยและระบอบเผด็จการ การต่อสู้ระหว่าง อีว็อกกับเอมไพร์และกันแกนกับสหพันธ์พาณิชย์ เป็นตัวแทนของการปะทะกันระหว่างสังคมดั้งเดิมกับสังคมที่ก้าวหน้ากว่า คล้ายกับ สงครามเวียดนาม[245][246] การออกแบบของดาร์ธ เวเดอร์ได้รับแรงบันดาลใจจากเกราะซามูไรรวมถึงหมวกเหล็กของทหารเยอรมัน[247][248] แต่เดิม ลูคัสตั้งใจให้ซิธเป็นกลุ่มที่รับใช้จักรพรรดิในแบบเดียวกับที่ ชุทซ์ชตัฟเฟิล รับใช้ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ แต่สุดท้ายถูกลดให้เหลือแค่ตัวละครตัวเดียวนั้นคือเวเดอร์[249] สตอร์มทรูปเปอร์ เป็นการยืมชื่อมาจากทหารเยอรมันซึ่งเรียกว่า "ช็อก" ทรูปเปอร์ ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เจ้าหน้าที่ของจักรวรรดิสวมเครื่องแบบคล้ายชุดเจ้าหน้าที่ในกองกำลังเยอรมันในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง[250] และบนหมวกของเจ้าหน้าที่ทางการเมืองและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย มีสัญลักษณ์สีเงินคล้ายกับสัญลักษณ์ของ เอ็สเอ็ส-โทเทินค็อพฟ์แฟร์เบ็นเดอ มีคำศัพท์จากสงครามโลกครั้งที่สองถูกใช้ในภาพยนตร์ เช่น ดาวเคราะห์ เคสเซิล (หมายถึงการล้อมฝ่ายตรงข้ามไว้) และ ฮอธ (ตั้งชื่อตามนายพลเยอรมัน ที่ทำหน้าที่ในแนวหน้าฝั่งตะวันออกซึ่งหิมะตกหนัก)[251] ในฉากที่ผู้บัญชาการมองผ่านจอในวอร์คเกอร์ เอที-เอที ใน จักรวรรดิเอมไพร์โต้กลับ คล้ายกับมุมมองภายในรถถัง[252] การต่อสู้ในอวกาศของภาพยนตร์ต้นฉบับนั้นนำมาจากการต่อสู้ทางอากาศในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและสงครามโลกครั้งที่สอง[253]
พัลพาทีนเป็นสมุหนายกก่อนที่จะกลายเป็นจักรพรรดิในไตรภาคต้น คล้ายกับบทบาทของฮิตเลอร์ก่อนแต่งตั้งตัวเองเป็น ฟือเรอร์[250] ลูคัสยังได้นำความเป็นผู้เผด็จการจากบุคคลในอดีตมาใส่ในตัวละคร เช่น จูเลียส ซีซาร์, นโปเลียน โบนาปาร์ตและความเป็นนักการเมืองจาก ริชาร์ด นิกสัน[254][255][k] การกวาดล้างเจไดครั้งใหญ่ คล้ายกับเหตุการณ์ใน คืนมีดยาว[257] การเสื่อมลงของสาธารณรัฐกาแลกติกนำมาจากการล่มสลายของประชาธิปไตยของสาธารณรัฐโรมัน และการสถาปนาจักรวรรดิโรมัน[258][259]
สำหรับแรงบันดาลใจของในการสร้างปฐมภาคีซึ่งเกิดจาก "เถ้าถ่านของจักรวรรดิ" นั้นเจ.เจ. แอบรัมส์ผู้กำกับ อุบัติการณ์แห่งพลัง พูดถึงการสนทนากับนักเขียนว่า ถ้าหากนาซีหนีไปอาร์เจนตินาหลังจบสงครามโลกครั้งที่สองแล้วและ "เริ่มทำงานร่วมกันอีกครั้ง"[146]
-
สงครามทางอากาศในสงครามโลกครั้งที่สองเป็นแรงบันดาลใจให้กับฉากต่อสู้กับอวกาศ
-
ธงและสัญลักษณ์ของจักรวรรดินั้นคล้ายคลึงกับพรรคนาซีและเยอรมนีในระหว่างการปกครองโดยนาซี
หมายเหตุ
[แก้]- ↑ ภาพยนตร์ฉายหลังนวนิยายวางจำหน่ายเมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1976
- ↑ ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น สตาร์ วอร์ส เอพพิโซด 4 ความหวังใหม่
- ↑ ก่อนการปล่อยตัวภาพยนตร์นี้นั้นมีฉบับนวนิยายมาก่อน ซึ่งปล่อยตัวในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1976
- ↑ สื่อที่แยกออกมาส่วนใหญ่ถูกจัดให้ไม่อยู่ในเส้นเรื่องหลักและถูกเปลี่ยนชื่อเป็น 'ตำนาน หรือ เลเจนส์' เมื่อเดือนเมษายน ค.ศ. 2014[2]
- ↑ ลูคัสเริ่มต้นด้วยการค้นคว้าแรงบันดาลใจที่อยู่ในเบื้องหลังการ์ตูน แฟลชกอร์ดอน ของ อเล็กซ์ เรย์มอนด์ ทำให้เขานำไปสู่งานของนักเขียน เอ็ดการ์ ไรซ์ เบอร์โรห์ โดยเฉพาะผลงานในชุด จอห์น คาเตอร์ ออฟ มาร์ส[51]
- ↑ แสดงโดย เจค ลอยด์ ตอนเป็นเด็กใน เอพพิโซด 1
- ↑ ภาพยนตร์แต่ละเรื่องนั้นฉายก่อนสหรัฐสองวัน
- ↑ ในไตรภาคนี้มีความสวยงามและการออกแบบที่ค่อนข้างใหม่เมื่อเปรียบเทียบกับไตรภาคเดิม[137]
- ↑ ในไตรภาคนี้แสดงให้เห็นถึงกาแลกซีที่มืดมนและสกปรก ในการพรรณนาของจอร์จ ลูคัส ว่าเป็น "จักรวาลที่ใช้แล้ว"[144]
- ↑ ในไตรภาคนี้มีการกลับมาใช้เทคนิคพิเศษที่เคยใช้ในไตรภาคเดิมซึ่ง เจ.เจ. แอบรัมส์ เรียกว่า "ความผิดปกติที่ยอดเยี่ยม"[145]
- ↑ ในร่างแรกของเขา ลูคัสใช้เรื่องราวของผู้เผด็จการที่อยู่ในอำนาจด้วยการสนับสนุนจากกองทัพ ในความคิดเห็นของเขา (กล่าวไว้ยุคไตรภาคต้น) ลูคัสกล่าวถึงความตั้งใจของนิกสันที่จะต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งที่ 22[256] แต่ประธานาธิบดีถูกฟ้องร้องและไม่ได้ดำรงตำแหน่งในสมัยที่สาม
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Booker, M. Keith (2020). Historical Dictionary of Science Fiction Cinema. Historical dictionaries of literature and the arts. Rowman & Littlefield. p. 390. ISBN 9781538130100.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 "The Legendary Star Wars Expanded Universe Turns a New Page". StarWars.com. April 25, 2014. สืบค้นเมื่อ May 26, 2016.
- ↑ "Star Wars – Box Office History". The Numbers. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-08-22. สืบค้นเมื่อ January 5, 2020.
- ↑ "Star Wars – Box Office History". The Numbers. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ July 6, 2013. สืบค้นเมื่อ January 5, 2020.
- ↑ "Movie Franchises". The Numbers. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ July 6, 2013. สืบค้นเมื่อ January 3, 2013.
- ↑ Star Wars: Episode IV: A New Hope (DVD). 20th Century Fox. 2006.
- ↑ "Battle droid". StarWars.com. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ August 10, 2021. สืบค้นเมื่อ October 22, 2023.
- ↑ Lewis, Ann Margaret (April 3, 2001). Star Wars: The Essential Guide to Alien Species. LucasBooks. ISBN 978-0345442208.
- ↑ Wallace, Daniel (February 16, 1999). Star Wars: The Essential Guide to Droids. LucasBooks. ISBN 978-0345420671.
- ↑ Smith, Bill (March 19, 1996). Star Wars: The Essential Guide to Vehicles and Vessels. LucasBooks. ISBN 978-0345392992.
- ↑ Wenz, John. "Could the Planets in Star Wars Actually Support Life?". Wired (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 1059-1028. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ May 26, 2022. สืบค้นเมื่อ May 27, 2022.
- ↑ "Asteroid Field". StarWars.com (ภาษาอังกฤษ). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ May 27, 2022. สืบค้นเมื่อ May 27, 2022.
- ↑ "Archeon Nebula". StarWars.com (ภาษาอังกฤษ). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ June 11, 2022. สืบค้นเมื่อ May 27, 2022.
- ↑ "X-wing starfighter". StarWars.com. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ November 8, 2023. สืบค้นเมื่อ October 22, 2023.
- ↑ "Super Star Destroyer". StarWars.com. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ November 10, 2023. สืบค้นเมื่อ October 22, 2023.
- ↑ "Death Star". StarWars.com. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ November 8, 2023. สืบค้นเมื่อ October 22, 2023.
- ↑ "HoloNet News". StarWars.com. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ November 11, 2023. สืบค้นเมื่อ October 22, 2023.
- ↑ Allain, Rhett. "The Physics in Star Wars Isn't Always Right, and That's OK". Wired (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 1059-1028. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ May 27, 2022. สืบค้นเมื่อ May 27, 2022.
- ↑ "6 Great Quotes About the Force". StarWars.com. July 25, 2016. สืบค้นเมื่อ November 11, 2018.
- ↑ "How to Teach Kids About Worldviews Through 'Star Wars' | SCENES" (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). April 26, 2018. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ July 2, 2022. สืบค้นเมื่อ May 27, 2022.
- ↑ The Empire Strikes Back (DVD). 20th Century Fox. 2004.
- ↑ ""Nothing is impossible for the Force": A Joint Retrospective on the first Darth Vader Comic Series – Mynock Manor". mynockmanor.com (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). March 31, 2017. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ January 11, 2023. สืบค้นเมื่อ May 27, 2022.
- ↑ "Jedi Order". StarWars.com. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ November 3, 2023. สืบค้นเมื่อ October 22, 2023.
- ↑ "Sith". StarWars.com. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ October 16, 2023. สืบค้นเมื่อ October 22, 2023.
- ↑ Nicholas, Christopher (2016). Star Wars: I Am a Jedi. Little Golden Books. Illustrated by Ron Cohee. pp. 18–19. ISBN 978-0736434874.
- ↑ "Galatic Empire". StarWars.com. สืบค้นเมื่อ October 22, 2023.
- ↑ "Lightsaber". StarWars.com. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ October 24, 2023. สืบค้นเมื่อ October 22, 2023.
- ↑ 28.0 28.1 "Hutt clan". StarWars.com. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ November 2, 2023. สืบค้นเมื่อ October 22, 2023.
- ↑ McCoy, Joshua Kristian (February 5, 2022). "Other Genres Star Wars Should Try Out". Game Rant (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ May 27, 2022. สืบค้นเมื่อ May 27, 2022.
- ↑ Mike Murphy (May 25, 2017). "The $11 million spent on "Star Wars" in 1977 was the best film investment ever made". Quartz. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ June 6, 2017. สืบค้นเมื่อ October 15, 2020.
- ↑ Ryan Gilbey (September 26, 2018). "Gary Kurtz obituary". TheGuardian.com. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ June 6, 2020. สืบค้นเมื่อ October 15, 2020.
- ↑ Chris Nashawaty (November 29, 2010). "'Empire Strikes Back' director Irvin Kershner: An appreciation". Entertainment Weekly. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ December 24, 2019.
- ↑ James Floyd (May 12, 2020). "EMPIRE at 40 | 7 Little-Known Facts About the Making of Star Wars: The Empire Strikes Back". starwars.com. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ June 8, 2020.
- ↑ 34.0 34.1 Shawn Robbins (May 21, 2020). "Celebrating the Star Wars Franchise's Box Office Impact as The Empire Strikes Back Turns 40". Boxoffice Pro. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ July 28, 2020.
- ↑ Lee Thomas-Mason (September 18, 2020). "A side-by-side comparison of Denis Villeneuve's 'Dune' trailer to the David Lynch effort". Far Out Magazine. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ October 15, 2020.
- ↑ Emily VanDerWerff (May 19, 2019). "The Star Wars prequels are bad — and insightful about American politics". Vox. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ October 10, 2020.
- ↑ Darren Franich (November 20, 2019). "Star Wars rewatch: Why is Attack of the Clones so heartless?". Entertainment Weekly. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ November 21, 2019.
- ↑ Cameron Bonomolo (May 16, 2020). "Star Wars: Episode II – Attack of the Clones Opened 18 Years Ago Today". Comicbook.com. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ June 1, 2020.
- ↑ Alex Leadbeater (May 19, 2020). "Revenge of the Sith Is The Best Star Wars Story Ever Told (Just Not Lucas' Version)". Screen Rant. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ May 29, 2020.
- ↑ Phil Pirrello (May 19, 2020). "How 'Revenge of the Sith' Almost Broke 'Star Wars'". The Hollywood Reporter. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ June 1, 2020.
- ↑ Kevin P. Sullivan (December 18, 2015). "'Star Wars': What 'The Force Awakens' gets right that the prequels got wrong". Entertainment Weekly. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ June 22, 2016.
- ↑ Patrick Hipes (January 23, 2017). "'Star Wars: Episode VIII' Gets A Title". Deadline Hollywood. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ July 7, 2017.
- ↑ Mandalit Del Barco (December 15, 2017). "For 'Last Jedi' Director, The Journey To 'Star Wars' Began With Action Figures". NPR. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ September 11, 2020.
- ↑ Pete Hammond (December 18, 2019). "'Star Wars: The Rise Of Skywalker' Review: Director J.J. Abrams Throws Everything Against The Wall And Most Of It Sticks". Deadline Hollywood. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ April 8, 2020. สืบค้นเมื่อ October 15, 2020.
- ↑ Gregory Lawrence (November 15, 2019). "Exclusive: 'Star Wars: The Rise of Skywalker' Final Writing Credits Revealed". Collider. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ September 9, 2020.
- ↑ Leadbeater, Alex (January 24, 2017). "A Brief History of Star Wars Titles". Screen Rant.
... how the Star Wars saga is currently evolving ... Lucasfilm fluctuated between Star Wars Anthology and A Star Wars Story, before settling on the latter. ... Episode VIII becoming The Last Jedi continues this trend, ... the announcement calls it "the next chapter in the Skywalker saga," solidifying "Skywalker Saga" as the official banner for the numbered episodes.
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "Emperor Palpatine / Darth Sidious". StarWars.com. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ June 28, 2011. สืบค้นเมื่อ November 5, 2023.
- ↑ Return of the Jedi (Blu-ray). 20th Century Fox. 1983.
- ↑ Revenge of the Sith (Blu-ray). 20th Century Fox. 2005.
- ↑ "Skywalker: A Family at War, a New Star Wars Biography, Revealed". StarWars.com. January 21, 2021. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ November 10, 2023. สืบค้นเมื่อ October 22, 2023.
- ↑ 51.0 51.1 Young, Bryan (December 21, 2015). "The Cinema Behind Star Wars: John Carter". StarWars.com. สืบค้นเมื่อ September 17, 2018.
- ↑ Vallely, Jean (June 12, 1980). "The Empire Strikes Back and So Does Filmmaker George Lucas With His Sequel to Star Wars". Rolling Stone. Wenner Media LLC.
- ↑ Rinzler 2007, p. 8.
- ↑ Smith, Kyle (September 21, 2014). "How 'Star Wars' was secretly George Lucas' Vietnam protest". The New York Post. สืบค้นเมื่อ September 22, 2014.
- ↑ "Starkiller". Jedi Bendu. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ June 28, 2006. สืบค้นเมื่อ March 27, 2008.
- ↑ "How Has the UK Shaped Star Wars?". May 4, 2022. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ November 4, 2022. สืบค้นเมื่อ November 4, 2022.
- ↑ Hidalgo, Pablo [@pablohidalgo] (February 15, 2019). "(And just to preemptively 'well, actually' myself, 'Episode IV: A New Hope' was made public by publishing it in the screenplay in 1979's Art of Star Wars book. But it wasn't added to the crawl until 1981)" (ทวีต) – โดยทาง ทวิตเตอร์.
- ↑ Kaminski 2008, p. 142.
- ↑ 59.0 59.1 59.2 Steranko, "George Lucas", Prevue #42, September–October 1980.
- ↑ 60.0 60.1 "Gary Kurtz Reveals Original Plans for Episodes 1-9". TheForce.net. May 26, 1999. สืบค้นเมื่อ September 22, 2018.
- ↑ Lucas, George (1980). "Interview: George Lucas" (PDF). Bantha Tracks. No. 8.
- ↑ Kaminski 2008, p. 494.
- ↑ Worrell, Denise. Icons: Intimate Portraits. p. 185.
- ↑ Kaminski 2008, p. 303.
- ↑ Kaminski 2008, p. 312.
- ↑ "Episode III Release Dates Announced". StarWars.com. April 5, 2004. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ April 15, 2008. สืบค้นเมื่อ March 27, 2008.
- ↑ Wakeman, Gregory (December 4, 2014). "George Lucas Was Terrible At Predicting The Future Of Star Wars". CinemaBlend. สืบค้นเมื่อ February 28, 2019.
- ↑ 68.0 68.1 "Mark Hamill talks Star Wars 7, 8 and 9!". MovieWeb. September 10, 2004. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-12-06. สืบค้นเมื่อ October 18, 2008.
- ↑ "George Lucas' Galactic Empire". TIME. March 6, 1978. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-09-17. สืบค้นเมื่อ September 15, 2012.
- ↑ Kerry O'Quinn. "The George Lucas Saga Chapter 3: 'The Revenge of the Box Office'". Starlog #50, September 1981.
- ↑ Gerald Clarke. "The Empire Strikes Back!" เก็บถาวร 2013-08-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Time, May 19, 1980. Retrieved September 26, 2012.
- ↑ Warren, Bill. "Maker of Myths". Starlog. No. #237, April 1997.
- ↑ Kerry O'Quinn. "The George Lucas Saga Chapter 1: 'A New View'", Starlog #48, July 1981.
- ↑ Lucas, George (1997). Star Wars: The Empire Strikes Back. Del Rey. p. i.
- ↑ "George Lucas talks on Star Wars sequels 7, 8 & 9". Killer Movies. September 13, 2004. สืบค้นเมื่อ October 18, 2008.
- ↑ "George Lucas Done With 'Star Wars' Fanboys, Talks 'Red Tails'". The Huffington Post. January 17, 2012. สืบค้นเมื่อ January 17, 2012.
- ↑ Nakashima, Ryan (October 30, 2012). "Disney to make new 'Star Wars' films, buy Lucas co". Yahoo!. สืบค้นเมื่อ October 10, 2018.
- ↑ Block, Alex (October 30, 2012). "Disney to Buy Lucasfilm for Billion; New 'Star Wars' Movie Set for 2015". The Hollywood Reporter. สืบค้นเมื่อ October 31, 2012.
- ↑ "George Lucas & Kathleen Kennedy Discuss Disney and the Future of Star Wars". YouTube.com. Lucasfilm. October 30, 2012. สืบค้นเมื่อ March 28, 2019.
I have story treatments of VII, VIII, and IX ... and I have complete confidence that [Kathy]'s going to take them and make great movies.
- ↑ Breznican, Anthony (November 20, 2015). "George Lucas on 'Star Wars: The Force Awakens': 'They weren't keen to have me involved'". Entertainment Weekly. สืบค้นเมื่อ March 28, 2019.
[T]hey looked at the stories and they said, 'We want to make something for the fans' ... So I said, 'All I want to do is tell a story of what happened'.
- ↑ Sciretta, Peter. "Interview: J.J. Abrams Talks About Abandoning George Lucas' Treatments and Lessons of the Star Wars Prequels". Slashfilm. สืบค้นเมื่อ March 28, 2019.
I came on board, and Disney had already decided they didn't want to go that direction. So the mandate was to start from scratch.
- ↑ Youngs, Ian (December 20, 2017). "Star Wars: The Last Jedi - the most divisive film ever?". BBC. สืบค้นเมื่อ January 1, 2020.
- ↑ Breznican, Anthony (December 21, 2019). "J.J. Abrams on The Rise of Skywalker Critics and Defenders: "They're All Right"". Vanity Fair. Condé Nast. สืบค้นเมื่อ January 1, 2020.
- ↑ Anita Busch (May 31, 2016). "'Rogue One': Re-Shoots But No Test Screening; Release Date Not Impacted". Deadline Hollywood. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ November 11, 2020. สืบค้นเมื่อ October 15, 2020.
- ↑ Pete Hammond (May 24, 2018). "'Solo: A Star Wars Story' Review: Han, Chewy & Lando Save The Day In Rip-Roarin' Origin Story". Deadline Hollywood. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ June 15, 2018. สืบค้นเมื่อ October 15, 2020.
- ↑ "George Lucas Talks 'Star Wars: The Clone Wars'". Starwars.com. March 17, 2008. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ June 4, 2011.
- ↑ McCreesh, Louise (February 13, 2018). "Lucas had been developing a Han Solo movie for ages". Digital Spy. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 14, 2018. สืบค้นเมื่อ March 14, 2018.
- ↑ Graser, Marc (September 12, 2013). "Star Wars: The 'Sky's the Limit' for Disney's Spinoff Opportunities". Variety. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ November 14, 2020. สืบค้นเมื่อ September 13, 2013.
- ↑ Breznican, Anthony (April 19, 2015). "Star Wars: Rogue One and mystery standalone movie take center stage". Entertainment Weekly. สืบค้นเมื่อ April 19, 2015.
- ↑ Breznican, Anthony (April 19, 2015). "Star Wars: Rogue One and mystery standalone movie take center stage". Entertainment Weekly. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ April 20, 2015. สืบค้นเมื่อ April 19, 2015.
- ↑ Breznican, Anthony (November 22, 2016). "As Rogue One looms, Lucasfilm develops secret plans for new Star Wars movies". Entertainment Weekly. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ January 7, 2020. สืบค้นเมื่อ December 7, 2019.
- ↑ Solo: A Star Wars Story (Blu-ray). Walt Disney Studios Motion Pictures. 2018.
- ↑ 93.0 93.1 Analysis by Brian Lowry (March 9, 2022). "As 'Obi-Wan Kenobi' heads to Disney+, just remember: It's Han Solo's fault". CNN. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 11, 2022. สืบค้นเมื่อ March 11, 2022.
- ↑ Grobar, Matt (2024-01-09). "'The Mandalorian & Grogu': Jon Favreau To Direct And Produce 'Star Wars' Pic For Lucasfilm". Deadline Hollywood (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ January 9, 2024. สืบค้นเมื่อ 2024-01-09.
- ↑ 95.0 95.1 D'Alessandro, Alexander (April 5, 2024). "'Mandalorian & Grogu', 'Moana' Live Action & 'Toy Story 5' Stake Out 2026 Release Dates". Deadline Hollywood. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ April 5, 2024. สืบค้นเมื่อ April 5, 2024.
- ↑ 96.0 96.1 96.2 96.3 Goldbart, Max (April 7, 2023). "Daisy Ridley Returning As Rey In Sharmeen Obaid-Chinoy & Steven Knight Star Wars Movie". Deadline Hollywood. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ January 9, 2024. สืบค้นเมื่อ April 7, 2023.
- ↑ "'Star Wars': Beau Willimon to Co-Write James Mangold's Movie (Exclusive)". The Hollywood Reporter. April 5, 2024. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ April 6, 2024. สืบค้นเมื่อ April 6, 2024.
- ↑ 98.0 98.1 98.2 98.3 "SWCE 2023: Three New Star Wars Movies Announced". StarWars.com. April 7, 2023. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ October 22, 2023. สืบค้นเมื่อ October 22, 2023.
- ↑ Brooks, Dan (April 8, 2023). "SWCE 2023: 11 Highlights from Lucasfilm's Studio Showcase". StarWars.com. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ April 12, 2023. สืบค้นเมื่อ April 9, 2023.
- ↑ Rubin, Rebecca (2024-01-09). "'Star Wars' Announces New Movie 'The Mandalorian & Grogu' From Director Jon Favreau". Variety (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ January 9, 2024. สืบค้นเมื่อ 2024-01-09.
- ↑ Bacon, Thomas (February 7, 2024). "Disney CEO Confirms Next Star Wars Movie Plans, Hints More Films Yet To Be Announced". Screen Rant. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ February 16, 2024. สืบค้นเมื่อ February 7, 2024.
- ↑ "Rian Johnson, Writer-Director of Star Wars: The Last Jedi, to Create All-New Star Wars Trilogy". StarWars.com. November 9, 2017. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ November 16, 2017. สืบค้นเมื่อ November 9, 2017.
- ↑ Breznican, Anthony (April 13, 2019). "Lucasfilm putting the 'Star Wars' movies 'on hiatus' after this year". Entertainment Weekly. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ April 14, 2019. สืบค้นเมื่อ April 15, 2019.
- ↑ Hipes, Patrick (February 6, 2018). "'Game Of Thrones' Duo Benioff & Weiss To Pilot New 'Star Wars' Movie Series". Deadline Hollywood. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ April 13, 2023. สืบค้นเมื่อ April 12, 2023.
- ↑ Kroll, Justin & Brent Lang (October 30, 2019). "'Star Wars': Inside 'Game of Thrones' Creators' Exit and the Pressures Facing Lucasfilm (EXCLUSIVE)". Variety. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ April 13, 2023. สืบค้นเมื่อ April 12, 2023.
- ↑ Hayes, Dade (May 19, 2019). "'Star Wars' Film Future: Bob Iger Confirms 'Game Of Thrones' Duo Helming Next Installment After Franchise "Hiatus"". Deadline Hollywood. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ April 13, 2023. สืบค้นเมื่อ April 12, 2023.
- ↑ Boucher, Geoff (October 28, 2019). "'Star Wars' Setback: 'Game Of Thrones' Duo David Benioff & D.B. Weiss Exit Trilogy". Deadline Hollywood. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ July 21, 2020. สืบค้นเมื่อ April 12, 2023.
- ↑ Hibberd, James (January 10, 2024). "David Benioff and Dan Weiss Reveal Their Shelved Star Wars Idea: 'The First Jedi'". The Hollywood Reporter. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ April 6, 2024. สืบค้นเมื่อ April 6, 2024.
- ↑ "Taika Waititi to Direct, Co-Write new Star Wars Film". StarWars.com. May 4, 2020. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ May 4, 2020. สืบค้นเมื่อ May 7, 2020.
- ↑ "'Star Wars': The Rebellion Will Be Televised". Vanity Fair (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). May 17, 2022. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ July 6, 2022. สืบค้นเมื่อ May 29, 2022.
- ↑ Shepherd, Jack (May 27, 2022). "Kathleen Kennedy on the future of Star Wars movies: "We need to create a whole new saga"". gamesradar (ภาษาอังกฤษ). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ May 28, 2022. สืบค้นเมื่อ May 29, 2022.
- ↑ "Lucasfilm President Kathleen Kennedy on Daisy Ridley's New Rey Film, 'Obi-Wan Kenobi' Season 2 and Rian Johnson's 'Star Wars' Future". Variety. April 8, 2023. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ April 9, 2023. สืบค้นเมื่อ April 9, 2023.
- ↑ Stedman, Alex (December 10, 2020). "Patty Jenkins to Direct 'Star Wars' Movie 'Rogue Squadron'". Variety (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ December 10, 2020. สืบค้นเมื่อ December 10, 2020.
- ↑ "Disney Pushes 'Haunted Mansion' to Summer 2023, Removes 'Star Wars' Movie 'Rogue Squadron' From Calendar". The Hollywood Reporter. September 15, 2022. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ October 1, 2022. สืบค้นเมื่อ October 1, 2022.
- ↑ Hibberd, James (March 14, 2024). "Patty Jenkins Says She's Back on 'Star Wars' Movie 'Rogue Squadron'". The Hollywood Reporter. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ April 6, 2024. สืบค้นเมื่อ April 6, 2024.
- ↑ Vary, Adam B. (February 21, 2020). "New 'Star Wars' Movie in Development With 'Sleight' Director, 'Luke Cage' Writer". Variety. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ October 6, 2020. สืบค้นเมื่อ February 21, 2020.
- ↑ Taylor, Drew (November 8, 2022). "J.D. Dillard Star Wars Movie No Longer Happening". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ December 12, 2022. สืบค้นเมื่อ December 13, 2022.
- ↑ "A Droid Story". Star Wars Official Twitter. December 10, 2020. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ April 4, 2023. สืบค้นเมื่อ April 12, 2023.
- ↑ Lucasfilm (December 10, 2020). "Future Lucasfilm Projects Revealed". StarWars.com. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ December 13, 2020. สืบค้นเมื่อ April 12, 2023.
- ↑ Thapa, Shaurya (March 27, 2023). "A Droid Story: Story Info & Everything We Know So Far". Screen Rant. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ April 12, 2023. สืบค้นเมื่อ April 12, 2023.
- ↑ Fleming, Mike Jr; Kroll, Justin (November 8, 2022). "Shawn Levy In Talks To Direct A 'Star Wars' Film After 'Deadpool 3' & 'Stranger Things' Final Eps". Deadline Hollywood (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ November 8, 2022. สืบค้นเมื่อ April 26, 2023.
- ↑ Bell, BreAnna (July 27, 2023). "Donald Glover and Brother Stephen to Write 'Lando' Series at Disney+ as Justin Simien Exits". Variety. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ January 9, 2024. สืบค้นเมื่อ April 13, 2024.
- ↑ D'Alessandro, Anthony (September 14, 2023). "'Lando' No Longer A Series, Rather A Movie". Variety (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ September 14, 2023. สืบค้นเมื่อ September 14, 2023.
- ↑ "37 YEARS AGO, THIS FORGOTTEN TV SHOW CHANGED STAR WARS FOREVER". Inverse. October 25, 2022. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ December 7, 2023. สืบค้นเมื่อ November 7, 2023.
- ↑ "The Star Wars Vintage Collection Has Arrived on Disney+!". April 2, 2021. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ April 9, 2021. สืบค้นเมื่อ April 2, 2021.
- ↑ "The Star Wars Vintage Collection brings classic cartoons and shows to Disney Plus". April 2, 2021. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ April 2, 2021. สืบค้นเมื่อ April 2, 2021.
- ↑ McCluskey, Megan (November 12, 2019). "How The Mandalorian Fits Into the Larger Star Wars Timeline". Time. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ November 24, 2019. สืบค้นเมื่อ November 7, 2023.
- ↑ Couch, Aaron (February 4, 2020). "Disney's Bob Iger Considering 'Mandalorian' Spinoff Shows". The Hollywood Reporter. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ February 4, 2020. สืบค้นเมื่อ November 7, 2023.
- ↑ Otterson, Joe (May 26, 2022). "'Star Wars' Sets New Disney+ Series 'Skeleton Crew,' Jude Law to Star". Variety. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ May 26, 2022. สืบค้นเมื่อ November 7, 2023.
- ↑ Porter, Rick (September 29, 2021). "'Mandalorian' Spinoff 'Book of Boba Fett' Gets December Date on Disney+". The Hollywood Reporter. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ September 30, 2021. สืบค้นเมื่อ November 7, 2023.
- ↑ "Disney+ Star Wars Shows Will Crossover In Big Story Event". Screenrant. December 10, 2020. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 27, 2023. สืบค้นเมื่อ November 7, 2023.
- ↑ 132.0 132.1 "'Obi-Wan Kenobi': Plot and Everything to Know as the Finale Hits Disney Plus". CNET. June 22, 2022. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ November 7, 2023. สืบค้นเมื่อ November 7, 2023.
- ↑ "Andor Is Changing How You See The Empire". Screenrant. September 25, 2022. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ April 10, 2023. สืบค้นเมื่อ November 7, 2023.
- ↑ 134.0 134.1 134.2 134.3 134.4 134.5 Outlaw, Kofi (January 8, 2021). "Star Wars Official New Timeline, Updated For The High Republic". Comicbook.com. สืบค้นเมื่อ January 8, 2021.
- ↑ "Star Wars: Three New Movies Confirmed At Celebration – Including Daisy Ridley's Return As Rey". Empire. April 7, 2023. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ October 21, 2023. สืบค้นเมื่อ October 22, 2023.
- ↑ 136.0 136.1 136.2 136.3 136.4 136.5 "The Eras of Star Wars". StarWars.com. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ August 26, 2023. สืบค้นเมื่อ August 26, 2023.
- ↑ Lawler, Kelly (December 11, 2017). "Why I love the 'Star Wars' prequels (and you should too)". King. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-08-10. สืบค้นเมื่อ August 9, 2019.
- ↑ Star Wars: Episode III – Revenge of the Sith (DVD). 20th Century Fox. 2005.
- ↑ Whitbrook, James. "The Clone Wars Returns February 2020, and All the Other Star Wars News Just Revealed at D23". io9. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-08-26. สืบค้นเมื่อ 2020-05-13.
- ↑ 140.0 140.1 "Star Wars Timeline Gives Official Titles For Prequel, Original & New Trilogies". ScreenRant. August 23, 2019.
- ↑ Miller, Matt (December 21, 2019). "How Palpatine Returned In The Rise of Skywalker". Esquire. New York City: Hearst Communications. สืบค้นเมื่อ January 9, 2020.
- ↑ McDonagh, Tim (2016). Star Wars: Galactic Atlas. Disney–Lucasfilm Press. pp. 13, 44. ISBN 978-1368003063.
- ↑ Return of the Jedi (Blu-ray). 20th Century Fox. 1983.
- ↑ Woods, Bob, บ.ก. (1997). "Launching the Rebellion". Star Wars: Official 20th Anniversary Commemorative Magazine. New York: Topps. p. 9.
- ↑ Woerner, Meredith (May 4, 2015). "New Star Wars Photos Reveal The Villain, A Space Pirate And Lots More". io9. Gizmodo. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-09-24. สืบค้นเมื่อ September 24, 2019.
- ↑ 146.0 146.1 James Dyer (2015). "JJ Abrams Spills Details On Kylo Ren". Empireonline.com. สืบค้นเมื่อ February 2, 2016.
- ↑ Tyler, Adrienne (December 25, 2019). "Star Wars: Rise of Skywalker Finally Explains How The First Order Are So Powerful". Screen Rant. สืบค้นเมื่อ January 9, 2020.
- ↑ 148.0 148.1 Benjamin W.L. Derhy Kurtz; Mélanie Bourdaa (2016). The Rise of Transtexts: Challenges and Opportunities. Taylor & Francis. p. 23. ISBN 978-1-317-37105-2.
- ↑ Britt, Ryan (January 24, 2013). "Weird Differences Between the First Star Wars Movie and Its Preceding Novelization". Tor.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ June 19, 2017. สืบค้นเมื่อ February 27, 2017.
- ↑ Allison, Keith (December 25, 2014). "A Long Time Ago …". The Cultural Gutter. สืบค้นเมื่อ March 2, 2017.
- ↑ Allison, Keith (January 22, 2015). "... In a Galaxy Far, Far Away". The Cultural Gutter. สืบค้นเมื่อ March 2, 2017.
- ↑ Newbold, Mark (April 15, 2013). "Star Wars in the UK: The Dark Times, 1987—1991". StarWars.com. สืบค้นเมื่อ March 16, 2017.
- ↑ "Critical Opinion: Heir to the Empire Reviews". StarWars.com. April 4, 2014. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ July 14, 2014. สืบค้นเมื่อ February 27, 2017.
- ↑ Breznican, Anthony (November 2, 2012). "Star Wars sequel author Timothy Zahn weighs in on new movie plans". Entertainment Weekly. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-05-16. สืบค้นเมื่อ July 21, 2016.
- ↑ "Timothy Zahn: Outbound Flight Arrival". StarWars.com. January 31, 2006. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ February 4, 2006. สืบค้นเมื่อ July 21, 2016.
- ↑ Kaminski 2008, pp. 289–91.
- ↑ "The New York Times Best Seller List" (PDF). Hawes.com. June 30, 1991. สืบค้นเมื่อ March 1, 2017.
- ↑ Britt, Ryan (February 28, 2013). "How Timothy Zahn's Heir to the Empire Turned Star Wars into Science Fiction". Tor.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ June 16, 2015. สืบค้นเมื่อ August 26, 2015.
- ↑ "Star Wars: The Courtship of Princess Leia (Review)". Kirkus Reviews. May 20, 2010. สืบค้นเมื่อ December 7, 2015.
- ↑ Wolverton, Dave (1994). The Courtship of Princess Leia. Bantam Spectra. ISBN 978-0-553-08928-8.
- ↑ 161.0 161.1 161.2 Webster, Andrew (December 2, 2012). "The Classics: Star Wars: Shadows of the Empire". The Verge. สืบค้นเมื่อ March 2, 2017.
- ↑ 162.0 162.1 "Shadows of the Empire Checklist". Rebelscum.com. สืบค้นเมื่อ March 2, 2017.
- ↑ "Databank: Xizor, Prince". StarWars.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ June 28, 2011. สืบค้นเมื่อ March 2, 2017.
- ↑ Creamer, Matt Timmy (January 20, 2016). "Star Wars: The Force Awakens borrowed heavily from Kevin J. Anderson's Jedi Academy Trilogy". Moviepilot. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 4, 2017. สืบค้นเมื่อ March 4, 2017.
- ↑ 165.0 165.1 "ConDFW XIII 2014: Kevin J. Anderson Profile". ConDFW.org. March 7, 2013. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ November 27, 2013.
- ↑ Goldstein, Rich (March 26, 2014). "Is the New 'Star Wars' Trilogy the Story of the Solo Twins and Darth Caedus?". The Daily Beast. สืบค้นเมื่อ February 21, 2015.
- ↑ Britt, Ryan (March 27, 2014). "Even More Kids on the Playground: X-Wing #1 Rogue Squadron". Tor.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ April 9, 2015. สืบค้นเมื่อ March 4, 2017.
- ↑ "Paperback Best Sellers: February 22, 1998 (X-Wing #5: Wraith Squadron)". The New York Times. February 22, 1998. สืบค้นเมื่อ March 4, 2017.
- ↑ "Paperback Best Sellers: August 29, 1999 (X-Wing #9: Starfighters of Adumar)". The New York Times. August 29, 1999. สืบค้นเมื่อ March 4, 2017.
- ↑ Britt, Ryan (July 6, 2016). "Star Wars Was Nearly Ruined By A Hacky Alien Invasion Storyline". The Huffington Post. สืบค้นเมื่อ March 1, 2017.
- ↑ Eng, Dinah (June 23, 2004). "Star Wars books are soldiering on". USA Today. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ November 20, 2013. สืบค้นเมื่อ February 28, 2017.
- ↑ 172.0 172.1 McMillan, Graeme (December 23, 2015). "How the Abandoned Star Wars Expanded Universe Inspired Force Awakens". The Hollywood Reporter. สืบค้นเมื่อ January 1, 2016.
- ↑ Bouie, Jamelle (December 16, 2015). "How The Force Awakens Remixes the Star Wars Expanded Universe". Slate. สืบค้นเมื่อ December 20, 2015.
- ↑ Kendrick, Ben (December 18, 2015). "Star Wars 7: Kylo Ren Backstory Explained". Screen Rant. สืบค้นเมื่อ December 20, 2015.
- ↑ Saavedra, John (December 17, 2015). "Star Wars: The Force Awakens Easter Eggs and Reference Guide (Kylo Ren/Ben Solo and the Knights of Ren)". Den of Geek. สืบค้นเมื่อ December 18, 2015.
- ↑ Truitt, Brian (July 16, 2016). "Thrawn to make grand appearance in Star Wars Rebels". USA Today. สืบค้นเมื่อ July 16, 2016.
- ↑ "The Rebels Face Grand Admiral Thrawn When Star Wars Rebels Season Three Premieres Saturday, September 24". StarWars.com. August 8, 2016. สืบค้นเมื่อ September 25, 2016.
- ↑ "Star Wars #1 (April 1977)". Marvel Comics. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ กรกฎาคม 4, 2017. สืบค้นเมื่อ สิงหาคม 23, 2016.
- ↑ แม่แบบ:Gcdb issue
- ↑ "Star Wars". The Comic Reader. No. 142. April 1977.
- ↑ "Star Wars #107 (May 1986)". Marvel Comics. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ มิถุนายน 20, 2017. สืบค้นเมื่อ สิงหาคม 23, 2016.
- ↑ Cronin, Brian (June 17, 2011). "Comic Book Legends Revealed #318". Comic Book Resources. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-05-07. สืบค้นเมื่อ March 13, 2017.
- ↑ McMillan, Graeme (January 10, 2013). "Leaving an Imprint: 10 Defunct MARVEL Publishing Lines: Star Comics". Newsarama. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ October 12, 2014. สืบค้นเมื่อ March 13, 2017.
- ↑ Ceimcioch, Marck (December 2014). "Marvel for Kids: Star Comics". Back Issue!. No. 77. สืบค้นเมื่อ March 13, 2017.
- ↑ Handley, Rich (April 20, 2013). "Droids and Ewoks Return: Spain's Lost Star Wars Comic Strips". StarWars.com. สืบค้นเมื่อ March 13, 2017.
- ↑ Shooter, Jim (July 5, 2011). "Roy Thomas Saved Marvel". Jimshooter.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ August 9, 2011.
In the most conservative terms, it is inarguable that the success of the Star Wars comics was a significant factor in Marvel's survival through a couple of very difficult years, 1977 and 1978. In my mind, the truth is stated in the title of this piece.
- ↑ Miller, John Jackson (March 7, 1997), "Gone but not forgotten: Marvel Star Wars series kept franchise fans guessing between films", Comics Buyer's Guide, Iola, Wisconsin, no. 1216, p. 46,
The industry's top seller? We don't have complete information from our Circulation Scavenger Hunt for the years 1979 and 1980, but a very strong case is building for Star Wars as the industry's top-selling comic book in 1979 and its second-place seller (behind Amazing Spider-Man) in 1980.
- ↑ Jenkins. Empire. p. 186.
- ↑ Cronin, Brian (November 29, 2007). "Comic Book Urban Legends Revealed #131". Comic Book Resources. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ April 26, 2015. สืบค้นเมื่อ February 27, 2017.
- ↑ Whitbrook, James (December 12, 2014). "The Greatest Dark Horse Star Wars Comics To Buy Before They're Gone". Gizmodo. สืบค้นเมื่อ March 13, 2017.
- ↑ Saavedra, John (January 4, 2015). "Star Wars: The 13 Greatest Dark Horse Comics Stories". Den of Geek. สืบค้นเมื่อ March 13, 2017.
- ↑ McMillan, Graeme (January 3, 2014). "Disney Moves Star Wars Comics License to Marvel". The Hollywood Reporter. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 23, 2016. สืบค้นเมื่อ January 3, 2014.
- ↑ Wilkerson, David B. (August 31, 2009). "Disney to Acquire Marvel Entertainment for $4B". MarketWatch. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ June 8, 2011.
- ↑ Brooks, Dan (July 26, 2014). "SDCC 2014: Inside Marvel's New Star Wars Comics". StarWars.com. สืบค้นเมื่อ August 20, 2016.
- ↑ Wheeler, Andrew (July 26, 2014). "Force Works: Marvel Announces Three New Star Wars Titles From All-Star Creative Teams". Comics Alliance. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ October 8, 2016. สืบค้นเมื่อ August 20, 2016.
- ↑ Yehl, Joshua (July 26, 2014). "SDCC 2014: Marvel Announces 3 Star Wars Comics for 2015". IGN. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ November 21, 2015. สืบค้นเมื่อ August 20, 2016.
- ↑ "LUCASFILM TO LAUNCH STAR WARS: THE HIGH REPUBLIC PUBLISHING CAMPAIGN IN 2020". StarWars.com. February 24, 2020. สืบค้นเมื่อ February 25, 2020.
- ↑ Hughes, William (March 3, 2018). "John Williams says he's only got one more of these damn Star Wars movies in him". The A.V. Club. สืบค้นเมื่อ March 3, 2018.
- ↑ 199.0 199.1 Burlingame, Jon (December 30, 2017). "'Solo' Locks in Key 'Star Wars' Veteran (EXCLUSIVE)". Variety. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ December 30, 2017. สืบค้นเมื่อ December 30, 2017.
- ↑ 200.0 200.1 200.2 200.3 Sterling, Christopher H. (2004). Encyclopedia of Radio (Vol. 3). Routledge. p. 2206. ISBN 9781135456498. สืบค้นเมื่อ March 2, 2017.
- ↑ 201.0 201.1 201.2 "5 Awesome Star Wars Media Collectibles". StarWars.com. April 9, 2015. สืบค้นเมื่อ March 2, 2017.
- ↑ 202.0 202.1 John, Derek. "That Time NPR Turned Star Wars Into A Radio Drama—And It Actually Worked". All Things Considered. NPR. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ June 20, 2016. สืบค้นเมื่อ March 2, 2017.
- ↑ Robb, Brian J. (2012). A Brief Guide to Star Wars (ภาษาอังกฤษ). London: Hachette. ISBN 9781780335834. สืบค้นเมื่อ July 21, 2016.
- ↑ "Mark Hamill (2), Anthony Daniels (2), Billy Dee Williams, John Lithgow - The Empire Strikes Back - The Original Radio Drama". Discogs. สืบค้นเมื่อ September 3, 2018.
- ↑ 205.0 205.1 205.2 Brown, Alan (December 16, 2015). "Sounds of Star Wars: The Audio Dramas". Tor.com. สืบค้นเมื่อ March 2, 2017.
- ↑ "Star Wars Infographic: 40 Years in Gaming". www.igdb.com. สืบค้นเมื่อ December 12, 2017.
- ↑ "Kenner Star Wars Battle Command". Handheldmuseum.com. สืบค้นเมื่อ March 15, 2017.
- ↑ Coopee, Todd. "Star Wars Electronic Battle Command Game". ToyTales.ca. สืบค้นเมื่อ March 15, 2017.
- ↑ Bogost, Ian; Montfort, Nick (2009). Racing the Beam: The Atari Video Computer System. The MIT Press. ISBN 978-0-262-01257-7.
- ↑ "A Brief History of Star War Games, Part 1 (Slide 1–6)". Tom's Hardware. May 20, 2007. สืบค้นเมื่อ March 3, 2017.
- ↑ "Star Wars: Return of the Jedi". MobyGames. สืบค้นเมื่อ March 15, 2017.
- ↑ "The making of The Empire Strikes Back". Retro Gamer. No. 70. November 2009. pp. 82–83.
- ↑ 213.0 213.1 "LucasArts Entertainment Company: 20th Anniversary (Part Two: The Classics, 1990–1994)". LucasArts. June 23, 2006. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ June 23, 2006. สืบค้นเมื่อ March 15, 2017.
- ↑ 214.0 214.1 Mizell, Leslie (October 1994). "Star Wars: Dark Forces preview". PC Gamer. pp. 34–37.
- ↑ 215.0 215.1 215.2 "A Brief History of Star War Games, Part 1 (Slide 29–32)". Tom's Hardware. May 20, 2007. สืบค้นเมื่อ March 3, 2017.
- ↑ Turner, Benjamin; Bowen, Kevin (December 11, 2003). "Bringin' in the DOOM Clones". GameSpy. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ January 27, 2012. สืบค้นเมื่อ August 15, 2013.
- ↑ Baldazo, Rex (December 1995). "Today's hot first-person 3-D shoot-'em-ups". Byte. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ November 23, 2008. สืบค้นเมื่อ August 15, 2013.
- ↑ Kent, Steven L. (March 19, 1995). "Tech Reviews CD-Rom – Dark Forces". The Seattle Times. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-07-19. สืบค้นเมื่อ December 15, 2008.
- ↑ "Star Wars Dark Forces – PC". GameRankings. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-11-14. สืบค้นเมื่อ December 30, 2008.
- ↑ Dulin, Ron (May 1, 1996). "Star Wars Dark Forces Review". GameSpot. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ October 18, 2012. สืบค้นเมื่อ October 20, 2013.
- ↑ Boulding, Aaron (November 19, 2002). "Star Wars Jedi Knight II: Jedi Outcast Xbox review". IGN. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-08-16. สืบค้นเมื่อ March 3, 2017.
- ↑ "Star Wars Jedi Knight: Jedi Academy Designer Diary #1". GameSpot. August 25, 2003. สืบค้นเมื่อ April 26, 2016.
- ↑ Schedeen, Jesse (August 12, 2008). "Top 25 Star Wars Heroes: Day 2". IGN. สืบค้นเมื่อ March 3, 2017.
- ↑ "Star Wars: Dark Forces". MobyGames. สืบค้นเมื่อ March 3, 2017.
- ↑ "Katarn, Kyle". StarWars.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ September 12, 2011. สืบค้นเมื่อ March 3, 2017.
- ↑ Terdiman, Daniel. "Disney shuttering LucasArts, moving to licensed games model". CNET (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ August 30, 2019.
- ↑ Kharpal, Arjun (August 31, 2017). "Lenovo, Disney launch 'Star Wars' Jedi augmented reality game that lets you use a Lightsaber". CNBC. สืบค้นเมื่อ September 27, 2018.
- ↑ "How Jedi Challenges Brings Star Wars to Life at Home". StarWars.com. November 3, 2017. สืบค้นเมื่อ September 27, 2018.
- ↑ "Zynga Partners With Disney For New 'Star Wars' Games". Variety. August 21, 2018. สืบค้นเมื่อ September 2, 2018.
- ↑ Vlessing, Etan; Parker, Ryan (March 7, 2019). "Star Wars: Galaxy's Edge Sets Opening Dates". The Hollywood Reporter. สืบค้นเมื่อ March 7, 2019.
- ↑ Fashingbauer Cooper, Gael (July 16, 2017). "Disney's Star Wars land named Galaxy's Edge, includes resort". CNET (ภาษาอังกฤษ). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ July 16, 2017. สืบค้นเมื่อ July 20, 2017.
- ↑ "Star Wars: The Force Unleashed". StarWars.com. สืบค้นเมื่อ September 26, 2018.
- ↑ "The Force Unleashed Sells 1.5 Million Units Worldwide in Under One Week". StarWars.com. September 23, 2008. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ April 2, 2009. สืบค้นเมื่อ March 15, 2017.
- ↑ Hamilton, Jason (February 25, 2015). "Star Wars in Mythology: The Shadow". StarWars.com. สืบค้นเมื่อ September 20, 2019.
- ↑ 235.0 235.1 Moyers, Bill (April 26, 1999). "Of Myth And Men". Time. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-08-25. สืบค้นเมื่อ April 20, 2009.
- ↑ 236.0 236.1 Idato, Michael (December 11, 2015). "Adam Driver's Kylo Ren unmasked as real star of Star Wars: The Force Awakens". Stuff. สืบค้นเมื่อ October 15, 2019.
- ↑ Seabrook, John (December 19, 2015). "The Force Returns: George Lucas Before the "Star Wars" Prequels". The New Yorker. สืบค้นเมื่อ March 23, 2019.
- ↑ Young, Bryan (March 13, 2018). "In The Last Jedi, Rey's Journey in the Mirror Cave Echoes a Star Wars Cycle". StarWars.com. สืบค้นเมื่อ September 20, 2019.
- ↑ "Joseph Campbell's Hero's Journey #9: Atonement with the Father". Think Spiritual. March 27, 2019. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-10-16. สืบค้นเมื่อ October 15, 2019.
- ↑ Crouse, Megan (August 3, 2018). "Always Two: How Matters of Trust Built and Broke Anakin Skywalker and Obi-Wan Kenobi". StarWars.com. สืบค้นเมื่อ October 15, 2019.
- ↑ "Becoming Sidious - Star Wars: Revenge of the Sith". StarWars.com. สืบค้นเมื่อ October 15, 2019.
- ↑ McGranaghan, Mike. "The 13 Most Influential Plot Twists In Cinema History". Ranker. สืบค้นเมื่อ October 15, 2019.
- ↑ Cipriani, Casey (December 14, 2017). "Every 'The Last Jedi' Clue About Rey's Parents, Explained". Bustle. สืบค้นเมื่อ October 15, 2019.
- ↑ Grebey, James (December 27, 2017). "Who the Heck Was the Broom Kid at the End of 'The Last Jedi'?". Inverse. สืบค้นเมื่อ March 7, 2019.
- ↑ Lucas, George (2001). Star Wars: Episode I – The Phantom Menace audio commentary (DVD). 20th Century Fox Home Entertainment. เหตุการณ์เกิดขึ้นที่ 108.
- ↑ Lucas, George (2004). "Making-of" documentary on the Return of the Jedi DVD release.
- ↑ Rees Shapiro, T. (March 5, 2012). "Ralph McQuarrie, artist who drew Darth Vader, C-3PO, dies at 82". The Washington Post. สืบค้นเมื่อ October 2, 2018.
- ↑ Gilbey, Ryan (November 1, 2017). "John Mollo obituary: Star Wars costume designer who dressed Darth Vader". The Guardian (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ October 2, 2018.
- ↑ Kaminski 2008, p. 184.
- ↑ 250.0 250.1 Reagin, Nancy R.; Liedl, Janice (October 15, 2012). Star Wars and History. p. 144. ISBN 9781118285251. สืบค้นเมื่อ August 30, 2013.
- ↑ Christopher Klein. "The Real History That Inspired "Star Wars"". HISTORY.com.
- ↑ Young, Bryan (January 21, 2014). "The Cinema Behind Star Wars: Battle of the Bulge". StarWars.com. สืบค้นเมื่อ March 25, 2019.
- ↑ Empire of Dreams: The Story of the Star Wars Trilogy (DVD). Star Wars Trilogy Box Set DVD documentary. 2004.
- ↑ "Star Wars: Attack of the Clones". Time. April 21, 2002. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ June 5, 2002. สืบค้นเมื่อ December 13, 2009.
The people give their democracy to a dictator, whether it's Julius Caesar or Napoleon or Adolf Hitler. Ultimately, the general population goes along with the idea ... That's the issue I've been exploring: how did the Republic turn into the Empire?
- ↑ Reagin, Nancy R.; Liedl, Janice (October 15, 2012). Star Wars and History. p. 32. ISBN 9781118285251. สืบค้นเมื่อ August 30, 2013.
- ↑ Kaminski 2008, p. 95.
- ↑ Reagin, Nancy R.; Liedl, Janice (October 15, 2012). Star Wars and History. p. 341. ISBN 9781118285251. สืบค้นเมื่อ August 30, 2013.
- ↑ Reagin, Nancy R.; Liedl, Janice (October 15, 2012). Star Wars and History. pp. 130–33. ISBN 9781118285251. สืบค้นเมื่อ August 30, 2013.
- ↑ ""Star Wars" offers perspective into ancient history". University of Tennessee at Chattanooga. November 5, 2012. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ November 23, 2015. สืบค้นเมื่อ November 12, 2018.
ผลงานที่อ้างถึง
[แก้]- Arnold, Alan (1980). Once Upon a Galaxy: A Journal of the Making of The Empire Strikes Back. Ballantine Books. ISBN 978-0-345-29075-5.
- Bouzereau, Laurent (1997). The Annotated Screenplays. Del Rey. ISBN 978-0-345-40981-2.
- Kaminski, Michael (2008) [2007]. The Secret History of Star Wars. Legacy Books Press. ISBN 978-0-9784652-3-0.
- Rinzler, Jonathan W. (2005). The Making of Star Wars, Episode III: Revenge of the Sith. Del Rey. ISBN 978-0-345-43139-4.
- ——— (2007). The Making of Star Wars: The Definitive Story Behind the Original Film (Star Wars). Del Rey. ISBN 978-0-345-49476-4.
ดูเพิ่ม
[แก้]- Decker, Kevin S. (2005). Star Wars and Philosophy. Open Court. ISBN 978-0-8126-9583-0.
- Campbell, Joseph (1991). The Power of Myth. Anchor. ISBN 978-0-385-41886-7.
- Henderson, Mary (1997). Star Wars: The Magic of Myth. Bantam. ISBN 978-0-553-10206-2.
- Cavlelos, Jeanne (1999). The Science of Star Wars. St. Martin's Press. ISBN 978-0-312-20958-2.
- Nancy R. Reagin, Janice Liedl, บ.ก. (2012). Star Wars and History. John Wiley & Sons. ISBN 978-0-470-60200-3.
- Star Wars: Where Science Meets Imagination. National Geographic & Boston Museum of Science. October 2005. ISBN 978-0-7922-6200-8.
- Belluomini, L. (2022). "The Mandalorian as Philosophy: 'This Is the Way'". ใน Johnson D. K. (บ.ก.). The Palgrave Handbook of Popular Culture as Philosophy. Palgrave Macmillan, Cham. doi:10.1007/978-3-319-97134-6_104-1. ISBN 978-3-319-97134-6. S2CID 245779254.
- Immerwahr, Daniel (2022). "The Galactic Vietnam: Technology, Modernization, and Empire in George Lucas's Star Wars" (PDF). Ideology in U.S. Foreign Relations. pp. 435–451. doi:10.7312/nich20180-022. ISBN 978-0-231-55427-5.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- เว็บไซต์ทางการ
- Star Wars ใน วูกีพีเดีย วิกิของ สตาร์ วอร์ส
- Star Wars Map – 2020 official; HiRez; WebSite