พร้อมเพย์ คืออะไร เจาะ 20 คำถาม-คำตอบเรื่อง PromptPay ที่คนสงสัย

          พร้อมเพย์ ลงทะเบียนอย่างไร หนึ่งเบอร์โทรศัพท์จะผูกได้กี่บัญชี กี่ธนาคาร พร้อมอีกหลายเรื่องที่คนคิดใช้บริการต้องรู้

พร้อมเพย์ ลงทะเบียน

          พร้อมเพย์ (PromptPay) คือการทำธุรกรรมทางการเงินแบบใหม่ที่จะช่วยให้เราโอนเงิน และรับโอนเงินจากคนอื่นได้สะดวกขึ้น เพราะรู้เพียงแค่เบอร์โทรศัพท์มือถือหรือเลขประจำตัวประชาชนก็สามารถโอนเงินให้กันได้ทันที โดยไม่ต้องมีเลขที่บัญชีธนาคาร

          ทั้งนี้ สำหรับคนที่ต้องการรับเงินจากภาครัฐ เช่น เบี้ยผู้พิการ เงินคืนภาษี หรือแม้แต่การรับเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ที่กระทรวงการคลังจะโอนให้ผู้ถือ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐและผู้พิการ ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางเป็นกลุ่มแรก ตั้งแต่วันที่ 25-30 กันยายน 2567 (กำหนดการโอนเงิน ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท 25-30 ก.ย.) ก็จะโอนผ่านบัญชีธนาคารที่ผูกพร้อมเพย์ด้วยเลขบัตรประชาชนเช่นกัน ดังนั้นใครที่มีสิทธิรับเงิน 10,000 บาทในรอบนี้จะต้องผูกบัญชีพร้อมเพย์กับบัตรประชาชนเอาไว้ล่วงหน้าก่อนวันโอนเงิน มิฉะนั้นอาจได้รับเงินล่าช้าหรือไม่ได้รับเงิน

          อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าหลายคนอาจยังไม่ค่อยเข้าใจระบบพร้อมเพย์อย่างชัดเจนเท่าไรนัก กระปุกดอทคอมจึงรวบรวมคำถาม-คำตอบที่คนข้องใจมาแจกแจงให้ได้ทราบเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องค่ะ

รวมคำถาม-คำตอบพร้อมเพย์


1. พร้อมเพย์ ดีกว่าการโอนเงินแบบเดิมอย่างไร ?


          ตอบ : เป็นคำถามที่หลายคนสงสัยว่าถ้าโอนเงินผ่านพร้อมเพย์ จะดีกว่าการโอนเงินแบบเดิมที่เคยใช้กันปกติอย่างไร คำตอบก็คือ

          - สะดวก รวดเร็วขึ้น เพราะไม่ต้องถามชื่อและเลขที่บัญชีธนาคารของผู้รับโอนให้ยุ่งยาก รู้แค่เบอร์มือถือก็กดโอนเงินให้ได้แล้ว

          - ปลอดภัย เพราะไม่ต้องพกเงินสดไปโอนเงินให้ที่ธนาคาร ไม่ต้องกังวลว่าเงินจะสูญหาย และยังสามารถตรวจสอบรายการโอนเงินได้ด้วย

          - สามารถรับเงินจากภาครัฐเข้าบัญชีได้โดยตรง โดยผูกบัญชีไว้กับเลขบัตรประจำตัวประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเงินคืนภาษี เงินบำนาญ หรือสวัสดิการต่าง ๆ

2. พร้อมเพย์ ลงทะเบียนอย่างไร ?


          ตอบ : หากใครจะใช้พร้อมเพย์ก็ต้องลงทะเบียนกับธนาคารที่เราจะผูกบัญชีไว้ก่อน โดยทำไม่ยาก แค่ต้องเตรียม 3 สิ่งไว้เพื่อผูกบัญชี คือ

          1. สมุดบัญชีเงินฝาก/เลขที่บัญชีเงินฝาก (ออมทรัพย์หรือกระแสรายวัน) ต้องเป็นชื่อเราเท่านั้น
          2. บัตรประจำตัวประชาชน
          3. หมายเลขโทรศัพท์มือถือ (ต้องลงทะเบียนแล้ว)


          โดยให้เราเลือกว่าจะนำหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชนไปผูกกับบัญชีเงินฝากใด หรือจะนำหมายเลขโทรศัพท์มือถือของเราไปผูกกับบัญชีเงินฝากใด เมื่อเลือกแล้วสามารถกรอกข้อมูลลงทะเบียนได้ในช่องทางใดช่องทางหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็น

          1. Mobile Banking
          2. Internet Banking
          3. ตู้เอทีเอ็ม
          4. สาขาธนาคาร
          5. คอลเซ็นเตอร์
          6. เว็บไซต์ของธนาคาร


          ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับว่าธนาคารแต่ละแห่งจะเปิดบริการในช่องทางใดบ้าง สามารถสอบถามเพิ่มเติมที่ธนาคารที่เราสนใจจะผูกบัญชีนะคะ

          - วิธีลงทะเบียนพร้อมเพย์ ธนาคารกสิกรไทย 
          - วิธีลงทะเบียนพร้อมเพย์ ธนาคารกรุงไทย
          - วิธีลงทะเบียนพร้อมเพย์ ธนาคารออมสิน
          - วิธีลงทะเบียนพร้อมเพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)
          - วิธีลงทะเบียนพร้อมเพย์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ๊การเกษตร (ธ.ก.ส.)
          - วิธีลงทะเบียนพร้อมเพย์ ธนาคารไทยพาณิชย์
          - วิธีลงทะเบียนพร้อมเพย์ ธนาคารทหารไทยธนชาต
          - วิธีลงทะเบียนพร้อมเพย์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
          - วิธีลงทะเบียนพร้อมเพย์ ธนาคารทิสโก้
          - วิธีลงทะเบียนพร้อมเพย์ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร
          - วิธีลงทะเบียนพร้อมเพย์ ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์
          - วิธีลงทะเบียนพร้อมเพย์ ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย
          - วิธีลงทะเบียนพร้อมเพย์ ธนาคารไทยเครดิต
          - วิธีลงทะเบียนพร้อมเพย์ ธนาคารไอซีบีซี ไทย
          - วิธีลงทะเบียนพร้อมเพย์ ธนาคารยูโอบี
          - วิธีลงทะเบียนพร้อมเพย์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย

3. ใช้เบอร์โทรศัพท์เดียวกัน ผูก 2 บัญชีแต่ต่างธนาคารกันได้หรือไม่ ?


          ตอบ : ไม่ได้ค่ะ เพราะหมายเลขโทรศัพท์ 1 เบอร์ สามารถผูกได้เพียงบัญชีธนาคารเดียวเท่านั้น หากจะผูกบัญชีอื่น สามารถใช้หมายเลขประจำตัวประชาชนแทนได้
 

4. ถ้าอย่างนั้นผูกบัญชีแบบไหนได้บ้าง ผูกได้กี่บัญชี กี่ธนาคาร ?


          ตอบ : สำหรับคนที่สงสัยเรื่องนี้อยู่ ลองดูตามนี้นะคะ

          - เลขประจำตัวประชาชนผูกได้กับเพียงบัญชีเดียวเท่านั้น
          - หมายเลขโทรศัพท์มือถือ 1 เลขหมาย ผูกได้กับเพียงบัญชีเดียวเท่านั้น
          - บัญชีเงินฝากธนาคาร 1 บัญชี สามารถผูกได้กับทั้งเลขประจำตัวประชาชนและหมายเลขโทรศัพท์มือถือ
          - บัญชีเงินฝากธนาคาร 1 บัญชี สามารถผูกกับหมายเลขโทรศัพท์มือถือได้สูงสุดตามจำนวนที่ธนาคารกำหนด (แต่รวมแล้วไม่เกิน 4 หมายเลข คือ เลขประจำตัวประชาชน 1 หมายเลข กับโทรศัพท์มือถืออีก 3 หมายเลข)

          นั่นหมายความว่า หากเรามีเพียงเลขประจำตัวประชาชน กับเบอร์โทรศัพท์เพียง 1 หมายเลข ก็จะสามารถผูกบัญชีได้เพียง 1-2 บัญชีเท่านั้น

          ตัวอย่างการผูกบัญชีจากธนาคารต่าง ๆ

พร้อมเพย์ ลงทะเบียน

พร้อมเพย์ ลงทะเบียน

พร้อมเพย์
 

5. มีบัญชีเงินฝากหลายบัญชี หลายธนาคาร แต่มีหมายเลขโทรศัพท์มือถือเบอร์เดียว จะเลือกผูกบัญชีไหน ธนาคารไหนดีล่ะ ?


          ตอบ : จะตัดสินใจเลือกผูกบัญชีเงินฝากของธนาคารใด กับหมายเลขโทรศัพท์มือถือหรือเลขประจำตัวประชาชนใด ขึ้นกับความสะดวกของเราค่ะ อาจพิจารณาดูว่าเราใช้บัญชีใดฝากเงินบ่อย รับโอนเงินบ่อย เช่น บัญชีเงินเดือน ก็อาจเลือกผูกกับบัญชีนั้น

6. ถ้าเราแค่โอนเงินให้คนอื่น (แต่ไม่ได้เป็นผู้รับเงิน) จำเป็นต้องสมัครบริการหรือไม่ ?


          ตอบ : หากเราแค่เป็นผู้โอนเงินให้อีกฝ่าย เราไม่จำเป็นต้องสมัครพร้อมเพย์ก็ได้ค่ะ เพราะสามารถโอนเงินให้ผู้รับได้ผ่านช่องทางตามปกติ เช่น ธนาคาร เอทีเอ็ม อินเทอร์เน็ต

          แต่หากเราเป็นฝ่ายรับเงินที่คนจะโอนเข้ามา เราจำเป็นต้องสมัครพร้อมเพย์ โดยลงทะเบียนผูกบัญชีกับเบอร์โทรศัพท์ของเราไว้ก่อน เพื่อให้คนอื่นโอนเงินมาให้เราผ่านทางเบอร์มือถือของเราได้นั่นเอง

7. พร้อมเพย์ คิดค่าธรรมเนียมการโอนอย่างไร ?


          ตอบ : ในการโอนเงินผ่านพร้อมเพย์จะไม่คิดค่าธรรมเนียมแยกรายการเป็นแบบในเขต ข้ามเขต หรือรายการในธนาคารเดียวหรือต่างธนาคารเหมือนกับการโอนเงินในรูปแบบเดิม แต่จะอ้างอิงวงเงินในการโอนเงินแต่ละครั้ง คือ

          - โอนเงินไม่เกิน 5,000 บาท ไม่คิดค่าธรรมเนียม
          - โอนเงินมากกว่า 5,000-30,000 บาท ค่าธรรมเนียมรายการละไม่เกิน 2 บาท
          - โอนเงินมากกว่า 30,000-100,000 บาท ค่าธรรมเนียมรายการละไม่เกิน 5 บาท
          - โอนเงินมากกว่า 100,000-วงเงินสูงสุดตามแต่ละธนาคารกำหนด ค่าธรรมเนียมรายการละไม่เกิน 10 บาท

          อย่างไรก็ตาม มีหลายธนาคารที่ไม่คิดค่าธรรมเนียมการโอนเงินผ่านพร้อมเพย์เลย ไม่ว่าจะโอนเท่าไรก็ตาม เช่น ธนาคารเกียรตินาคินภัทร ธนาคารทิสโก้ ฯลฯ สามารถตรวจสอบจากธนาคารที่เราต้องการผูกบัญชีพร้อมเพย์อีกครั้ง
 
พร้อมเพย์ ลงทะเบียน

8. โอนเงินไม่เกิน 5,000 บาท ไม่เสียค่าธรรมเนียม มีจำกัดจำนวนครั้งต่อเดือนไหม ?


          ตอบ : บริการพร้อมเพย์ให้เราโอนเงินไม่เกิน 5,000 บาท ทั้งข้ามเขต ข้ามธนาคาร โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมใด ๆ และไม่จำกัดจำนวนครั้งด้วยค่ะ

9. หากใช้พร้อมเพย์โอนเงินให้เพื่อน 10,000 บาท ไปบัญชีธนาคารเดียวกัน ต้องเสียค่าธรรมเนียมหรือไม่ ?


          ตอบ : แม้จะโอนเงินไปยังธนาคารเดียวกัน แต่หากโอนเงินมากกว่า 5,000 บาท จะต้องเสียค่าธรรมเนียม เพราะบริการพร้อมเพย์ไม่ได้คิดค่าธรรมเนียมข้ามธนาคาร-ข้ามเขต เหมือนการโอนเงินทั่วไป แต่คิดตามจำนวนเงินที่ต้องการโอน ดังนั้น หากไม่ต้องการเสียค่าธรรมเนียม เราอาจจะเลือกโอนเงินในช่องทางเดิมได้

          ส่วนการโอนเงินแบบพร้อมเพย์จะดีในกรณีโอนข้ามเขตหรือต่างธนาคาร เพราะประหยัดค่าธรรมเนียมกว่าการโอนในช่องทางปกติ

10. กำหนดจำนวนการโอน วงเงินสูงสุด และจำนวนเงินสูงสุดในการโอนต่อรายการ และต่อวันเท่าไร ?


          ตอบ : บริการนี้ไม่ได้กำหนดจำนวนครั้งในการโอนเงินต่อวัน ดังนั้น เราจะโอนเงินวันละกี่ครั้งก็ได้ ส่วนวงเงินสูงสุดและจำนวนเงินสูงสุดในการโอนเงินต่อรายการและต่อวัน ขึ้นอยู่กับแต่ละธนาคารเป็นผู้กำหนด

11. จะโอนเงินไปยังบัญชีของธนาคารในต่างประเทศได้หรือไม่ ?


          ตอบ : ไม่ได้ค่ะ เพราะพร้อมเพย์ให้บริการโอนเงินเฉพาะภายในประเทศเท่านั้น

พร้อมเพย์ ลงทะเบียน

12. หากเราใช้เบอร์โทรศัพท์มือถือกับ Mobile Banking ของธนาคารไหนแล้ว จำเป็นต้องใช้เลขที่บัญชีของธนาคารนั้นผูกกับเบอร์โทรศัพท์มือถือที่จะใช้บริการพร้อมเพย์หรือไม่ ?


          ตอบ : ไม่จำเป็น เพราะการผูกหมายเลขโทรศัพท์มือถือกับ Mobile Banking เป็นคนละระบบกับการลงทะเบียนผูกหมายเลขโทรศัพท์มือถือกับบัญชีในบริการพร้อมเพย์

13. จะเปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์ที่ผูกกับบัญชีธนาคารไว้แล้วได้หรือไม่ ?


          ตอบ : สามารถเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกการผูกบัญชีได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์ เปลี่ยนบัญชีธนาคารที่ต้องการผูก ก็สามารถทำได้
 

14. ถ้าลงทะเบียนพร้อมเพย์ไปแล้ว ต่อมามีการย้ายค่ายโทรศัพท์มือถือ โดยยังใช้หมายเลขเดิม จะต้องทำอย่างไร หรือหากเปลี่ยนเครื่องโทรศัพท์มือถือใหม่ ต้องทำอะไรไหม ?


          ตอบ : เราไม่ต้องแจ้งอะไรกับธนาคารเลยค่ะ เพราะในเมื่อใช้เบอร์โทรศัพท์เดิมก็ยังคงผูกกับบัญชีธนาคารได้อยู่

15. หากเลิกใช้/ยกเลิกหมายเลขโทรศัพท์มือถือที่ลงทะเบียนไว้ หรือเปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์ใหม่ ต้องทำอย่างไร ?


          ตอบ : กรณียกเลิกเบอร์โทรศัพท์ เราต้องแจ้งธนาคารโดยเร็วเพื่อให้ยกเลิกการผูกบัญชี แต่หากเปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์ใหม่ แล้วเรายังต้องการใช้บริการพร้อมเพย์ เราต้องลงทะเบียนผูกเบอร์โทรศัพท์นั้นกับบัญชีเงินฝากของเราอีกครั้ง

พร้อมเพย์ ลงทะเบียน

16. บริการพร้อมเพย์ปลอดภัยหรือเปล่า ?


          ตอบ : เรื่องนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยยืนยันว่า บริการพร้อมเพย์มีความปลอดภัยสูงตามมาตรฐานสากล และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทยอย่างใกล้ชิด เช่นเดียวกับระบบการโอนเงินประเภทต่าง ๆ ที่มีให้บริการอยู่ในปัจจุบันค่ะ

          ทั้งนี้ ข้อมูลในบริการพร้อมเพย์ไม่ได้นำไปเก็บในบัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรเดบิต/บัตรเอทีเอ็ม ชิปการ์ด แต่ถูกเก็บไว้ในระบบกลางที่มีความปลอดภัยสูง และระบบสำรองที่มั่นคง

          นอกจากนี้หากเราจะใช้บริการโอนเงินทางอินเทอร์เน็ต ก็จะต้องมี Username และพาสเวิร์ด เช่นเดียวกับการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านอินเทอร์เน็ตทั่วไป จึงจะสามารถโอนเงินไปยังผู้รับได้

          กรณีโทรศัพท์มือถือหาย ผู้ที่เก็บได้จะไม่สามารถนำไปโอนเงินได้ หากไม่ทราบหมายเลขรหัสเข้าระบบ และรหัสผ่านของตัวเจ้าของบัญชี แต่ผู้ใช้ต้องรีบไปยกเลิกการลงทะเบียนผูกบัญชีพร้อมเพย์ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของตัวเอง

17. หากการโอนเงินผ่านพร้อมเพย์มีความผิดพลาด เช่น เงินตัดต้นทางแต่ไม่เข้าปลายทาง หรือโอนเงินผิด จะทำอย่างไร ?


          ตอบ : เราควรเก็บรายละเอียดหรือหลักฐานการโอนเงินต่าง ๆ ไว้ และแจ้งกับธนาคารต้นทางเพื่อตรวจสอบ โดยธนาคารมีกระบวนการรองรับปัญหานี้อยู่แล้ว ซึ่งเป็นกระบวนการที่เหมือนกับการแก้ปัญหาการโอนเงินในระบบปัจจุบัน

18. หากหมายเลขโทรศัพท์มือถือของผู้รับโอนเงินโดนระงับสัญญาณ เราจะโอนเงินผ่านพร้อมเพย์ได้สำเร็จไหม ?


          ตอบ : ยังสามารถทำการโอนเงินได้

19. หากหมายเลขโทรศัพท์มือถือของผู้รับโอนเงินยกเลิกบริการไปแล้ว การโอนเงินผ่านบริการพร้อมเพย์จะสำเร็จหรือไม่ ?


          ตอบ : กรณีหมายเลขโทรศัพท์มือถือของผู้รับโอนเงินมีการยกเลิกบริการผ่านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือแล้ว ข้อมูลการยกเลิกดังกล่าวจะถูกนำมายกเลิกการลงทะเบียนที่ฐานข้อมูลบริการพร้อมเพย์ของธนาคารด้วย เราจะไม่สามารถโอนเงินเข้าหมายเลขโทรศัพท์มือถือนั้นได้

20. มีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดการลงทะเบียนพร้อมเพย์หรือเปล่า ?


          ตอบ : ไม่มีกำหนดระยะเวลาค่ะ เป็นการลงทะเบียนแบบสมัครใจ จะลงทะเบียนเพื่อใช้งานหรือไม่ก็ได้ และจะลงทะเบียนเมื่อใดก็ได้


          ทั้งนี้ หากใครสมัครพร้อมเพย์ด้วยเลขบัตรประจำตัวประชาชนไว้ จะสามารถได้รับเงินคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากกรมสรรพากรเร็วขึ้นกว่าการขอคืนด้วยเช็คแบบเดิมด้วยค่ะ


บทความที่เกี่ยวข้องกับพร้อมเพย์




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
พร้อมเพย์ คืออะไร เจาะ 20 คำถาม-คำตอบเรื่อง PromptPay ที่คนสงสัย อัปเดตล่าสุด 19 กันยายน 2567 เวลา 15:28:54 922,181 อ่าน
TOP
x close
  翻译: