เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ในองค์กร

เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ในองค์กร

ประเภทความคิดของคนทำงานที่ว่าอยู่มาก่อนก็ต้องรู้อะไรๆ มากกว่า การใช้ช่วงจังหวะโอกาส คอยขัดแข้งขัดขาคนที่มาใหม่และกำลังจะรู้อะไรได้มากขึ้น คนพวกนี้ยึดตัวเองเป็นแกน “ต้องรีบสกัดดาวรุ่ง” ทำเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยาก สร้างกระบวณการความสัมพันธ์ในองค์กรให้ตัวเองดูสูงศักดิ์ ชนิดที่ว่าจะถามอะไรสักหน่อยก็แทบจะต้องร่างเป็นจดหมายขออนุญาตกันเลยทีเดียว หรือแม้กระทั่งบางคนที่อาจจะมีความเข้าใจในกระบวนการทำงานดี แต่ไม่มีจิตสำนึกถึงส่วนรวม ยึดหลักมั่นว่า “วันใดขาดฉันแล้วเธอจะรู้สึก” องค์กรส่วนใหญ่จะมีคนเหล่านี้อยู่ทุกที่ ในขณะที่ องค์กรที่ดีจำเป็นต้องมีระบบในการบริหารผลงานและแนวทางการบริหารองค์กรที่เป็นเหตุเป็นผล มากกว่าการตัดสินด้วยอารมณ์และความพึงพอใจ วัฒนธรรมการพึ่งพาอาศัยและการเอาอกเอาใจแบบคนไทยไม่ใช่เรื่องเสียหาย แต่ต้องให้อยู่ในขอบเขตที่เหมาะสม และทำงานอย่างมืออาชีพ

ในองค์กร สำนักงาน โรงงาน หรือบริษัท คือ สังคมที่เราต้องใช้เวลาต่อวันนานกว่าสังคมอื่นๆ ฉะนั้นพฤติกรรมต่างๆ ของคนภายในองค์กร จึงส่งผลต่อเราไม่มากก็น้อย ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ทุกคนก็ย่อมจะได้รับผลกระทบจากพฤติกรรมของคนอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้เลย คือ ไม่ว่าในสังคมไหนๆ จะต้องมีบางคน บางกลุ่ม ก้าวขึ้นมารับบทบาทผู้นำ ซึ่งอาจจะมาจากการได้รับการสถาปนา แต่งตั้ง หรือไม่ก็ ‘สถาปนาตัวเอง’ ขึ้นมา

ในรูปแบบการได้รับการสถาปนา แต่งตั้ง ถึงแม้จะมีหลักเกณฑ์หรือแนวทางอย่างเป็นทางการมากมาย แต่ในหลายๆ องค์กรก็ยังต้องเผชิญกับผู้บริหารบางคนที่ไม่สามารถทำหน้าที่ของผู้นำตามบทบาทของตัวเองได้ดี ยิ่งไม่ต้องคิดเลยว่าในองค์กรที่ยังเต็มไปด้วยผู้นำกลุ่มในแบบที่สถาปนาตัวเองขึ้นมา มันจะสร้างความวุ่นวายสักแค่ไหน

องค์กรเกือบทุกที่จะมีเจ้าพ่อ-เจ้าแม่ในองค์กร ซึ่งเป็นได้ทั้งผู้ชาย-ผู้หญิง อายุมาก-อายุน้อย ทำงานมานานหรือมาใหม่ พอจะสรุปได้ว่า เจ้าพ่อ-เจ้าแม่เหล่านั้นมีเส้นทางในการสร้างอำนาจเป็นเจ้าพ่อ-เจ้าแม่ในองค์กรได้อย่างไรบ้าง

1. พี่อยู่มาทุกยุคหลายสมัย : อันนี้คลาสสิกที่สุด ประเภทที่คิดว่าอยู่มาก่อนก็ต้องรู้อะไรมากกว่า (ซึ่งเรื่องที่รู้มักจะเป็นเรื่องส่วนตัวของคนอื่นมากกว่าเรื่องที่เป็นประโยชน์กับการทำงาน) มักคอยขัดแข้งขัดขาคนที่มาใหม่ ใครกำลังจะได้ดีหรือมีโอกาสเรียนรู้อะไรได้มากขึ้น คนพวกนี้เป็นต้องรีบสกัดดาวรุ่ง ทำเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยากชนิดที่ว่าจะถามอะไรสักหน่อยก็แทบจะต้องร่างเป็นจดหมายขออนุญาตกันเลยทีเดียว หรือแม้กระทั่งบางคนที่อาจจะมีความเข้าใจในกระบวนการทำงานดี แต่ไม่มีจิตสำนึกถึงส่วนรวม จะคอยสอดส่องจับผิด แทนที่จะสอนคนใหม่ว่าควรทำงานอย่างไร เพราะในใจจะคิดว่าถ้าตัวเองทำงานนั้นได้ ใครๆ ก็ควรจะทำได้ โดยลืมนึกไปว่ากว่าจะมีวันนี้ ตัวเองต้องผ่านการเรียนรู้อะไรมาบ้าง หรือบางคนจะคิดว่าตอนที่ตัวเองเข้ามาทำงานก็ไม่มีใครสอนยังรอดมาได้ เพราะฉะนั้นคนใหม่ ถ้าเก่งจริงก็ต้องทำงานได้เอง ถ้าคนใหม่ทำไม่ได้ก็จะโดนคนพวกนี้ดูถูก และแม้ว่าจะทำได้ก็จะโดนหมั่นไส้อยู่ดี

2. หัวหน้าไม่ใช้บทบาทหัวหน้า : หัวหน้าที่ใจดีจะเป็นที่รักและเข้าใจของลูกน้อง แต่ถ้าใจดีจนละเลยหน้าที่ ไม่ตระหนักในบทบาทของตัวเอง ในการที่จะต้องเป็นผู้ตัดสินผิดถูก ด้วยเหตุผลบ่อยๆ จะทำให้คนในองค์รวมรู้สึกได้ว่าเป็นที่ทำงานตรองอำนวจเพื่อความสนองใจตนหรือเพื่อให้ได้ใช้อำนาจเกินขอบเขต ยิ่งถ้าเป็นหัวหน้าที่คอยให้ท้ายผสมด้วยแล้วละก็ จะเป็นมหันตภัยใหญ่ในองค์กร

3. เด็กเส้น-มือสังหาร : ไม่ว่าจะเส้นเล็กเส้นใหญ่ ถ้าหลุดเข้ามาเมื่อไร ก็ถือเป็นทางลัดขึ้นสู่ตำแหน่งเจ้าพ่อ-เท่าแม่ได้ในทันที เพราะคนเหล่านี้ก็มักจะคิดว่าถึงอย่างไรก็จะมีผู้ใหญ่คอยสนับสนุน ทำให้การโต้แย้งกันกับคนพวกนี้มักจะไม่จบลงตรงที่เหตุผล แต่จะเป็นการตัดสินใจแบบฟันธงของผู้ใหญ่ในแบบที่งงกันไปทั้งองค์กรก็เป็นไปได้ ก็เราคุ้นเคยกับระบบอุปถัมภ์มาเป็นเวลานาน คงไม่แปลกใจที่คนเส้นใหญ่มักจะไปได้ไกลแม้จะไม่ขยับขาเดิน นี่ก็เป็นหนึ่งเหตุผลที่คนเก่งๆ มักจะลาออกไป เพราะไม่มีใครอยากอยู่ในการแข่งขันที่ไม่ยุติธรรม

4. สัมพันธ์ลับ : ทันทีที่มีเรื่องส่วนตัวเข้ามาเกี่ยวข้องแบบลึกซึ้ง ลับๆ บางคนก็จะได้อำนาจพิเศษติดตัวไปด้วย อาจจะเป็นการได้รับสิทธิพิเศษ หรือการได้รับการคุ้มครองแบบที่ทำอะไรก็ไม่ผิด หรือผิดยังไงก็ไม่ต้องโทษ ในขณะที่บางคนแค่ถอนหายใจ ก็โดนด่าว่าเป็นคนผิดไปแล้ว

5. ลูกรัก : บางคนอาจจะทำงานดีจนเป็นที่พึงพอใจของผู้บริหารระดับสูง แต่ถ้าไม่มีความสามารถในการควบคุมอารมณ์ก็จะเป็นคนเก่งที่ไม่มีใครรัก เป็นคนที่มีอำนาจจากการทำงานได้ดี แต่ไม่มีบารมีให้คนนับถือด้วยใจ จึงต้องทวีระดับการใช้อำนาจขึ้นไปเรื่อยๆ เพื่อให้สามารถควบคุมทุกคนเอาไว้ให้ได้นานๆ ภาวะผู้นำจึงเป็นสิ่งสำคัญมากๆ ไม่ใช่ว่าจะต้องรอให้ได้เป็นหัวหน้า จึงจะเรียนรู้เรื่องนี้ได้ ในบางครั้ง บางคนอาจจะได้รับความไว้วางใจจากเจ้านายเนื่องจากมีผลงานที่ดี แต่ถ้าไม่มีศิลปะในการสื่อสารหรือการทำงานร่วมกับคนอื่นก็จะกลายเป็นคนเก่งที่ไม่สามารถสั่งการใครได้ แน่นอนว่าบางคนอาจจะเลือกใช้อำนาจจากการเป็นลูกรักเพื่อบังคับให้คนอื่นทำตามในสิ่งที่ตนเองคิดว่าดี

6. หัวหน้าแก๊ง : หัวหน้าแก๊ง ผู้ซึ่งรวบรวมกำลังคนจากการเป็นศูนย์ข้อมูลในการตั้งวงพูดคุยพาดพิงถึงคนอื่น จนกลายเป็นผู้ทรงอิทธิพลในหมู่คนที่ชอบพูดถึงคนอื่นลับหลังด้วยกัน เพราะนอกจากอำนาจจะมาจากการกล้าทำเรื่องไม่ดีแล้ว ยังทำให้คนที่กลัวการถูกนินทาต้องยอมอ่อนข้อให้คนพวกนี้ด้วย คนกลุ่มนี้เป็นตัวบ่อนทำลายความสามัคคีในองค์กรอย่างมาก สิ่งที่ทุกองค์กรควรทำเป็นอย่างมาก คือ อย่าปล่อยให้วงสนทนาการนินทาเป็นเรื่องปกติ ที่คิดว่าคนถูกนินทาต้องทำใจและปล่อยผ่าน เพราะการนินทาเป็นการสะท้อนวัฒนธรรมองค์กรว่าไม่มีช่องทางการสื่อสารอย่างเป็นรูปธรรม หรือสะท้อนว่าผู้บริหารไม่รับฟังปัญหาของพนักงาน การไม่มีระบบการบริหารผลงานและค่าตอบแทนที่ดี หรือแม้กระทั่งระบบการกระจายงานที่ไม่ดี ทำให้มีคนว่างงานได้ขนาดนี้ นอกจากนี้แล้วมันจะตามมาด้วยพวกบ่างช่างยุ พวกที่เหลาให้แหลมแล้วทิ่มแทงกัน

7. ว่าง : ทุกที่จะมีคนบางคนที่ดูว่างได้อย่างไม่น่าเชื่อ ว่างจนเรารู้สึกสงสัยว่าจำเป็นต้องมีคนคนนี้ในองค์กรจริงๆ หรือ คนที่ว่างมากมักมีเวลาเหลือพอที่จะสนใจเรื่องจุกจิกเล็กน้อยไปเสียทุกเรื่อง และแน่นอนว่าเป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่ไม่ได้ให้ความสนใจ จึงทำให้บางคนเอามาเป็นจุดแข็งในการคอยจับผิดคนอื่นไปทั่ว ยิ่งถ้าเจ้านายให้การรับฟัง สนับสนุนว่าการจับผิดเป็นเรื่องดี องค์กรแบบนี้จะเต็มไปด้วยคนขี้อิจฉาริษยา และจะมีปัญหาในการปรับปรุงพัฒนาสิ่งใหม่ๆ เนื่องจากใครๆ ก็จะแข่งกันขุดคุ้ยปัญหามากกว่านำเสนอแนวทางแก้ไข หรือบางทีคนที่คอยเสนอสิ่งใหม่ๆ ก็จะท้อต่อพลังการจับผิดของคนพวกนี้ไปเสียเอง

แน่นอนว่า เมื่อถึงจุดหนึ่ง เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ จะต้องขยายเขตอำนาจ และจะตามมาด้วยการสร้างเงื่อนไขการต่อรอง ต่อต้าน ดื้อเงียบหรือที่เรียกว่าใส่เกียร์ว่าง ทั้งหมดนี้ ไม่มีบั่นทอนวัฒนธรรมที่ดีขององค์กร สร้างความยากลำบากในการพัฒนาองค์กร ปิดกั้นแนวความคิดใหม่ๆ ที่เข้ามา ไม่มองสิ่งแวดล้อมภายนอก มองแต่ตัวตนเองเป็นที่ตั้ง และคนพวกนี้ดื้อยา รักษายาก

หากต้องการดูหรือเพิ่มความคิดเห็น ลงชื่อเข้าใช้