ไปที่เที่ยวอยุธยา เที่ยวตามรอยพรหมลิขิต กันเถอะ แม้ว่าละครจะลาจอไปแล้ว แต่แฟนละครตัวยงหลายคนก็ยังอินอยู่ เลยต้องไปตามรอยละครกันซะหน่อย ใครยังไม่มีแพลนจะไปที่ไหนช่วงวันหยุด ปักหมุดไปที่เที่ยวอยุธยาตามนี้รับรองฟินแน่
ฉากโบราณสถาน และวัดเก่าหลายแห่งปรากฏอยู่ในละคร ปลุกกระแสเที่ยวตามรอยพรหมลิขิตให้เกิดขึ้น โดยพรหมลิขิตเป็นละครภาคต่อจากละครพีเรียดชื่อดังเรื่อง “บุพเพสันนิวาส” ซึ่งยังคงได้รับความสนใจ และมีกระแสแรงอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ออนแอร์จนกระทั่งลาจอไปแล้วก็ตาม โดยเรื่องราวในภาคต่อนี้เป็นช่วงอยุธยาตอนปลาย ยุคสมัยของราชวงศ์บ้านพลูหลวง ก่อนการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง สถานที่ที่ปรากฏในเรื่องจึงเป็นสถานที่สำคัญที่เชื่อมโยงเรื่องราวในประวัติศาสตร์จริง ๆ ใครกำลังอินกับละครอยู่ต้องหาเรื่องไปที่เที่ยวอยุธยา เที่ยวตามรอยพรหมลิขิตกันแล้ว แต่จะมีที่ไหนบ้าง มาดูกันเลย
【มีเวลาจำกัด】 ส่วนลด 8% สำหรับ SIM & eSIM ต่างประเทศ 🔥
🎉รวมโปรส่วนลด Trip.com
อัปเดตโปรโมชั่นใหม่ตลอดเวลา อย่าพลาด!!👏
🚍 บัตรโดยสาร
【ส่วนลด 8%】 สำหรับรถไฟสนามบิน รถไฟใต้ดิน รถเช่า รถบัส ฯลฯ 👍
🎡ที่เที่ยวสุดฮิต
【ราคาพิเศษ】ตั๋วที่เที่ยวยอดฮิตทั้งในและต่างประเทศ🎉
ปักหมุดสถานที่เที่ยวอยุธยา เที่ยวตามรอยพรหมลิขิต แฟนตัวยงไม่ควรพลาด
1. ที่เที่ยวอยุธยา วัดพุทไธศวรรย์
พระเจ้าอู่ทอง โปรดเกล้าฯ ให้ยกพื้นที่เดิมซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของพระตำหนักเวียงเหล็กถวายพระพุทธศาสนา สร้างเป็นพระอารามขนาดใหญ่ ประกอบด้วยปรางค์ประธาน พระอุโบสถ วิหาร ระเบียงคด ถวายพระนามว่า “วัดพุทไธศวรรย์” โดยวัดนี้เป็นวัดสำคัญตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้นจวบจนสมัยอยุธยาตอนปลาย ซึ่งปรากฏในละครเรื่องบุพเพสันนิวาส โดยเป็นสถานที่ฝึกดาบสองมือของท่านอาจารย์ชีปะขาว รวมทั้งยังเป็นสถานที่สำคัญที่ปรากฏในละครเรื่องพรหมลิขิตด้วย
พิกัดวัดพุทไธศวรรย์ : https://maps.app.goo.gl/ToATuru5UefZSCYC6
2. ที่เที่ยวอยุธยา วัดพระราม
ในพงศาวดารกล่าวว่า ศักราช 731 ปีระกา พ.ศ. 1912 มีการก่อสร้างวัดพระราม ปีนั้นสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) เสด็จสวรรคต จากบันทึกดังกล่าว อาจระบุได้ว่าวัดพระรามสร้างขึ้นในสมัยของสมเด็จพระราเมศวรซึ่งเป็นพระราชโอรส เพื่อทรงใช้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิของพระเจ้าอู่ทอง (พระราชบิดา) และพื้นที่บริเวณนี้ยังเคยเป็นที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระเจ้าอู่ทองอีกด้วย วัดพระรามได้รับการบูรณะหลายครั้ง โดยในสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถมีการระบุไว้ในพงศาวดารหลายฉบับกล่าวว่าเป็นการเริ่มบูรณะเป็นครั้งแรก ส่วนการบูรณะครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2284 สมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ซึ่งถือว่าเป็นการซ่อมแซมครั้งใหญ่ที่กินเวลากว่า 1 ปี
พิกัดวัดพระราม : https://maps.app.goo.gl/PCxB5jMztWT4LVGw9
3. ที่เที่ยวอยุธยา วัดพระศรีสรรเพชญ์
วัดพระศรีสรรเพชญ์ เป็นวัดหลวงประจำพระราชวังของกรุงศรีอยุธยา มีข้อความพระราชพงศาวดารระบุว่า สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ สร้างวัดแห่งนี้ขึ้นเมื่อ พ.ศ.1977 โดยพื้นที่บริเวณที่เป็นวัดพระศรีสรรเพชญ์ในปัจจุบัน คือพระราชวังของช่วงยุคต้นกรุงศรีอยุธยามา แต่ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรมีการขยับขยายขนาดของพระราชวัง และได้ย้ายพระราชวังไปอยู่ใกล้แม่น้ำลพบุรีทางตอนเหนือ และถวายบริเวณที่เป็นพระราชวังเดิมให้เป็นที่วัด และนี่คือที่มาของการสร้างวัดพระศรีสรรเพชญ์ ซึ่งเป็นวัดในพระราชวังแห่งแรกในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ โดยมีเจดีย์ประธาน 3 องค์ ตั้งอยู่บนฐานไพทีเดียวกัน ระหว่างเจดีย์คั่นด้วยมณฑปที่สร้างขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และภายในวิหารหลวงของวัดเคยประดิษฐานพระพุทธรูปที่มีนามว่าพระศรีสรรเพชญดาญาณด้วย
พิกัดวัดพระศรีสรรเพชญ์ : https://maps.app.goo.gl/LyerfBsR7qCeW8W19
4. ที่เที่ยวอยุธยา วัดพนัญเชิงวรวิหาร
เป็นวัดที่สันนิษฐานว่าสร้างก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยา 26 ปี ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าใครเป็นผู้สร้าง แต่ปรากฏความในพงศาวดารเหนือ ซึ่งเป็นตำนานว่า พระเจ้าสายน้ำผึ้งเป็นผู้สร้าง เพื่อระลึกถึงพระนางสร้อยดอกหมาก พระธิดาของพระเจ้ากรุงจีนที่มาสิ้นพระชนม์ พระเจ้าสายน้ำผึ้งจึงเชิญศพมาพระราชทานพระเพลิงที่แหลมบางกะจะ แล้วสร้างเป็นวัดขึ้นมีชื่อว่า “วัดพระเจ้าพระนางเชิง” นอกจากนี้วัดนี้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่ ซึ่งชาวบ้านเรียกกันว่า “หลวงพ่อโต” ในขณะที่ชาวจีนนิยมเรียกว่า “ซำปอกง” โดยในพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐกล่าวว่า ได้มีการสถาปนาพระพุทธรูปพุทธชื่อ”พระเจ้าพแนงเชิง” เมื่อปี พ.ศ. 1867 และในปัจจุบัน วัดนี้เป็นวัดที่ยังมีการบูรณะและดูแลให้มีความสวยงามขึ้น แต่ในบางจุดที่เป็นสถาปัตยกรรมโบราณก็ยังคงไว้ แถมที่นี่ยังเป็นที่เที่ยวอยุธยาแห่งหนึ่งที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวอย่างมาก
พิกัดวัดพนัญเชิง : https://maps.app.goo.gl/ETHR3WwiEmZdQBrZ6
5. ที่เที่ยวอยุธยา วัดกุฎีดาว
วัดกุฎีดาวไม่ปรากฏชัดเจนว่าสร้างขึ้นเมื่อใด แต่นักวิชาการสันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นในรุ่นราวคราวเดียวกันกับวัดมเหยงคณ์ ในพระราชพงศาวดารกล่าวว่า สมเด็จพระเจ้าท้ายสระโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดมเหยงคณ์ และให้สมเด็จพระอนุชาธิราชกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (เจ้าฟ้าพร) บูรณปฏิสังขรณ์วัดกุฎีดาวซึ่งอยู่ฟากตรงข้ามวัดมเหยงคณ์ และให้สร้างตำหนักกำมะเลียนริมวัดกุฎีดาวเพื่อเสด็จฯ มาควบคุมและทอดพระเนตรงานบูรณปฏิสังขรณ์ ซึ่ง “เจ้าฟ้าพร” ในสมัยพระเจ้าท้ายสระ ต่อมาก็คือ พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศนั่นเอง
พิกัดวัดกุฎีดาว : https://maps.app.goo.gl/4PHjCpxaR4fk5fya9
6. ที่เที่ยวอยุธยา วัดมเหยงคณ์
พงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา และพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ปรากฏหลักฐานว่า สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) โปรดฯ ให้สร้างวัดมเหยงคณ์ขึ้น แต่ต่างปีกันโดยฉบับแรกกล่าวว่าสร้างขึ้น พ.ศ. 1967 ศักราช 786 มะโรงศก ส่วนอีกฉบับบันทึกว่า พ.ศ. 1981 ศักราช 800 มะเมียศก แม้ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าวัดมเหยงคณ์สร้างขึ้นในปีไหน แต่ในสมัยพระเจ้าท้ายสระปรากฏหลักฐานว่ามีการการปฏิสังขรณ์วัด โปรดให้ปลูกพระตำหนักอยู่ริมวัดเพื่อบัญชาการปฏิสังขรณ์ โดยเจดีย์ประธานของวัดนี้ เป็นเจดีย์ทรงระฆังมีช้างล้อม ซึ่งอาจเป็นหนึ่งในหลักฐานที่แสดงความสัมพันธ์กับอาณาจักรสุโขทัย สอดคล้องกับประวัติศาสตร์ที่ว่าสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 อภิเษกสมรสกับพระราชธิดาของพระมหาธรรมราชาที่ 2 แห่งสุโขทัย
พิกัดวัดมเหยงคณ์ : https://maps.app.goo.gl/mf2K7JFXJGNeUBLC9
7. ที่เที่ยวอยุธยา วัดโคกพระยา
ที่มา : Tripadvisor
วัดโคกพระยาสถานที่ใช้สำเร็จโทษเจ้านายสมัยก่อน สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น โดยปรากฏหลักฐานในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาว่า ใน พ.ศ. 1925 สมเด็จพระราเมศวร พระราชโอรสของสมเด็จพระเจ้าอู่ทอง ซึ่งถูกส่งไปครองเมืองลพบุรี ได้เสด็จยกกองทัพมาทำรัฐประหาร ยึดอำนาจจากสมเด็จพระเจ้าทองลัน ซึ่งขึ้นครองราชย์ได้เพียง 7 วัน เมื่อก่อการสำเร็จแล้ว ก็โปรดให้นำสมเด็จพระเจ้าทองลันไป “สำเร็จโทษ” ที่ วัดโคกพระยา และนับเป็นกษัตริย์องค์แรกในประวัติศาสตร์ที่ถูกลงโทษด้วย “ท่อนจันทน์” ตามราชประเพณี โดยพระเจ้าแผ่นดินและเจ้านายเชื้อพระวงศ์ที่ถูก สำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์จะนำพระศพมาฝังไว้ที่วัดนี้ด้วย
พิกัดวัดโคกพระยา : https://maps.app.goo.gl/Vj2qumHYMertw2ei9
8. ที่เที่ยวอยุธยา วัดพระงาม
วัดชะราม หรือวัดพระงามในปัจจุบัน หนึ่งในวัดสำคัญบริเวณคลองสระบัว ไม่ปรากฏหลักฐานทางเอกสารว่าสร้างขึ้นเมื่อใด แต่จากหลักฐานการขุดค้นทางโบราณคดีพบว่าวัดพระงามมีแผนผังเป็นแบบที่นิยมในสมัยอยุธยาตอนต้นคือ มีเจดีย์ประธาน และอาคารอยู่ด้านหน้าในแนวแกนเดียวกัน ซึ่งจากการขุดค้นพบว่าอุโบสถด้านหน้าน่าจะถูกดัดแปลงมาจากวิหาร เจดีย์ทรงระฆังแปดเหลี่ยมมีร่องรอยของการพอกอีกชั้นหนึ่ง แต่ไม่ได้เปลี่ยนรูปทรงเจดีย์ ลักษณะของเจดีย์สามารถนำไปเปรียบเทียบกับเจดีย์ที่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น ปัจจุบันนักท่องเที่ยวมักนิยมมาถ่ายรูปที่ซุ้มประตู้ทางเข้าวัดที่ถูกปกคลุมด้วยรากต้นโพธิ์
พิกัดวัดพระงาม : https://maps.app.goo.gl/nwmwedVc7hNqa4YC6
9. ที่เที่ยวอยุธยา หอกลอง
ที่มา : Sanook
หอกลองกรุงศรีอยุธยาในปัจจุบันไม่ปรากฏหลักฐานใด ๆ สันนิษฐานว่าสร้างด้วยเครื่องไม้ จึงน่าจะถูกเผาทำลายไปพร้อมกับสงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 แต่อย่างไรก็ตามในคำให้การขุนหลวงหาวัด ได้พรรณนาถึงรูปลักษณ์ของหอกลอง ตำแหน่งที่ตั้ง รวมถึงการใช้ประโยชน์และการดูแลรักษาโดยสรุปว่า หอกลองตั้งอยู่ใกล้กับบริเวณคุกนครบาล ป่า (ตลาด) ผ้าเขียว ศาลพระกาฬ วัดเกษ และจุดตัดระหว่างถนนมหารัถยากับถนนป่าโทน ชาวเมืองนิยมเรียกจุดนี้ว่าตะแลงแกง ตัวหอกลองมียอดซุ้มทาแดง ทำเป็นสามชั้น สูง 30 วา (60 เมตร) แบ่งการใช้งานดังนี้ ชั้นบนสุดมีกลองชื่อพระมหากฤษ ไว้คอยดูข้าศึก ชั้นสองมีกลองชื่อพระมหาระงับดับเพลิง ใช้สำหรับตีเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ภายในพระนคร ส่วนชั้นล่างมีกลองชื่อพระทิวาราตรี ใช้สำหรับตีกลองใหญ่บอกเวลาทุกชั่วยาม สันนิษฐานว่าปัจจุบันตำแหน่งหอกลองน่าจะอยู่บริเวณวังช้างอยุธยา ซึ่งในละครเรื่องพรหมลิขิต ย่านป่าผ้าเขียวเป็นที่ที่คุณพี่ริดพาแม่พุดตานมาเที่ยว และเป็นอาณาเขตที่หมู่สงดูแลพื้นที่อยู่
พิกัดหอกลอง : https://maps.app.goo.gl/iPRjCEmTTUbLXVNy9
10.ที่เที่ยวอยุธยา วัดไชยวัฒนาราม
วัดไชยวัฒนาราม ตั้งอยู่บริเวณนิวาสสถานเดิมของพระราชมารดาของ “สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง” เมื่อครั้งยังเป็นออกญากลาโหมสุริยวงศ์ ขุนนางผู้ใหญ่ที่รับราชการมาตั้งแต่ครั้งพระเจ้าทรงธรรม ได้จัดงานพิธีปลงศพมารดาซึ่งสิ้นชีวิตลงจนกลายเป็นชนวนเหตุสำคัญต่อมา ทำให้ออกญากลาโหมสุริยวงศ์ปราบดาภิเษกยึดอำนาจจากพระอาทิตยวงศ์ และทำการบรมราชาภิเษกในปี พ.ศ. 2172 ขึ้นครองราชย์เป็น “สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง” (สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 5) ต่อมาในปี พ.ศ. 2173 โปรดให้สร้างวัดขึ้นบริเวณนิวาสสถานเดิมของพระราชมารดา อันประกอบด้วยปรางค์ประธาน ระเบียงคด เมรุทิศ เมรุราย พระอุโบสถ วิหาร เจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง ศาลาการเปรียญ และพระราชทานนามว่า “วัดไชยวัฒนาราม” โดยแผนผังองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมของวัดไชยวัฒนารามเป็นลักษณะการจำลองแผนผังของจักรวาลตามความเชื่อทางศาสนาพราหมณ์และในคัมภีร์ไตรภูมิของศาสนาพุทธ และยังเป็นอีกหนึ่งวัดที่เป็นสถานที่เที่ยวอยุธยา ที่นักท่องเที่ยวนิยมมาในปัจจุบันอีกเช่นกัน
พิกัดวัดไชยวัฒนาราม : https://maps.app.goo.gl/MYEgt8TzjWKtEo1R9
11. ที่เที่ยวอยุธยา วัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร
ชื่อเดิมคือ “วัดทอง” สร้างขึ้นในสมัยอยูธยาตอนปลายโดยพระอักษรสุนทรศาสตร์ หรือที่เรียกกันโดยสามัญว่า “ทองดี” ซึ่งเป็นบุตรของพระยาราชนิกูล (ทองคำ) และมีศักดิ์เป็นเหลนของเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ต่อมาท่านทองดีได้สมรสกับธิดาของคหบดีชาวจีนย่านคลองนายก่ายนามว่า “ดาวเรือง” มีบุตร-ธิดาถึง 5 คน โดยบุตรลำดับที่ 4 ที่มีนามว่า “ทองด้วง” ต่อมาได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (รัชกาลที่ 1) ต้นราชวงศ์จักรีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ภายหลังจากกรุงศรีอยุธยาถูกทำลายโดยกองทัพอังวะ วัดทองแห่งนี้ถูกทิ้งร้างทรุดโทรม รัชกาลที่ 1 จึงโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่โดยมีสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท (วังหน้า) เป็นแม่กองในการบูรณปฏิสังขรณ์ โปรดเกล้าฯ ให้ช่างสกุลวังหน้าเขียนภาพจิตรกรรมเล่าเรื่องเทพชุมนุม ไตรภูมิ และพุทธประวัติไว้โดยรอบพระอุโบสถ และก่อพระสถูปบรรจุพระบรมอัฐิพระปฐมบรมมหาชนก (ทองดี) ซึ่งเป็นพระราชบิดาไว้ด้านหลังพระอุโบสถ ในสมัยรัชกาลที่ 4 มีการยกฐานะให้เป็นวัดหลวงโดยเปลี่ยนชื่อวัดจากนามสามัญเป็น “วัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร”
พิกัดวัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร : https://maps.app.goo.gl/RX7CyNq7PW6JakBD8
12. ที่เที่ยวอยุธยา วัดย่านอ่างทอง (จุฬาโลก)
ที่มา : Travel True ID
วัดนี้ไม่ปรากฏหลักฐานการสร้าง แต่หากพิจารณาจากที่ตั้งของวัดซึ่งอยู่ริมแม่น้ำน้อย สันนิษฐานว่าน่าจะมีการสร้างวัดมาแล้วอย่างน้อยก็ตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย เพราะแม่น้ำน้อยถือเป็นเส้นทางสัญจรหลักที่สำคัญมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ที่สามารถเชื่อมโยงกับหัวเมืองทางเหนือ ได้แก่ เมืองแพรกศรีราชา เมืองชัยนาท เมืองพระบาง (นครสวรรค์) ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ ตรงกับรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ ได้แก่ พระอุโบสถ พระวิหารทรงจัตุรมุขยอดปรางค์ พระสถูปย่อมุมไม้สิบสอง รวมทั้งมีบรรดาเจ้านายฝ่ายต่าง ๆ ได้ร่วมกันถวายสิ่งของมีค่าเพื่อร่วมกุศลเป็นจำนวนมาก เช่น โปรดเกล้าฯ ให้รื้อท้องพระโรงเดิมของวังหน้ามาประกอบขึ้นเป็นศาลาการเปรียญของวัด และรื้อเอาพระตำหนักต่าง ๆ ของเจ้านายมาปลูกขึ้นใหม่ในเขตสังฆาวาสเพื่อถวายเป็นกุฏิสงฆ์ โดยอาคารพิพิธภัณฑ์จัดแสดงโบราณวัตถุ เป็นพระตำหนักเดิมของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ (วังหน้า) ซึ่งเป็นฉากถ่ายทำตอนที่พุดตานมาพบคุณยายสิปาง รวมทั้งยังใช้เป็นฉากถ่ายทำวัดชานเมืองที่พระเรืองฤทธิ์บวชอยู่ด้วย
ใครยังไม่มีแพลนเที่ยวในช่วงวันหยุด ที่เที่ยวอยุธยา เที่ยวตามรอยพรหมลิขิต ก็เป็นอีกหนึ่งแพลนที่น่าสนใจที่เรารวบรวมมาให้แล้ว ถึงไม่ใช่แฟนละครตัวยงก็ไปได้ เพราะแต่ละที่มีประวัติเด็ด ๆ ทั้งนั้น และมีความสวยงามของประวัติศาสตร์ที่ยังคงรักษาไว้จนถึงปัจจุบัน